๑. นายตัน
๒. นางน้อย
๓. นางจันทา
๔. นายจำปา
๕. นายสีทอง (ซึ่งต่อมาได้บวชเป็นพระ เป็นหลวงลุงของหลวงปู่)
๖. นายสน (โยมบิดาของหลวงปู่)
๗. นายสาน
บ้านเดิมของหลวงปู่หลวงท่าน ก็คือ บ้านบัว ต.สว่าง อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร อันเป็นบ้านเกิดเดียวกันกับ หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร และหลวงปู่แว่น ธนปาโล ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับหลวงปู่หลวง นับเป็นญาติกันทางสายโยมมารดาอีกทีหนึ่ง ส่วนโยมตาของหลวงปู่ชื่อว่า “เกล้าน้อย” ซึ่งเดิมเป็นคนทางภาคเหนือ สืบเชื้อสายมาจากพวกไทยใหญ่ หรือที่เรียกว่า ไทยลื้อ มีถิ่นฐานบ้านเดิมอยู่แถบบ้านกล้วย อ.แม่ทะ จ.ลำปาง ได้เอาสินค้าจำพวกเครื่องเขิน และเครื่องเงินเครื่องประดับเครื่องใช้ต่างๆ อันเป็นงานฝีมือของทางภาคเหนือ หาบด้วยบ่ากันเป็นหมู่นำไปค้าขายทางแถบภาคอีสาน รอนแรมไปเรื่อยๆ แล้วก็หาหรือแลกซื้อสินค้าจำพวกผ้าที่ทอด้วยมือ มีลวดลายสวยงามทางภาคอีสานกลับไปขายทางภาคเหนืออีกทีหนึ่ง เที่ยวหนึ่งๆ ก็นับเป็นเดือนๆ บ่อยเข้าก็ได้ไปเจอกับโยมยาย (ไม่ทราบชื่อ) ซึ่งมีอาชีพทำนาและอยู่อาศัยในจังหวัดสกลนคร เมื่อถูกใจกันก็ตกลงอยู่กินร่วมกัน โดยช่วยกันทำมาค้าขาย รับซื้อปลาซื้อผักจากชาวบ้านมาขายต่อ บางทีก็กลับไปทางเหนือเพื่อเอาสินค้ามาขาย ต่างช่วยกันประกอบสัมมาอาชีพหาเลี้ยงครอบครัว จนมีลูกด้วยกัน ๗ คนด้วยกัน ตามลำดับดังนี้
๑. นายคุด
๒. นางนา
๓. นางสา
๔. นางสอน
๕. นางซ้อน
๖. นางสียา (โยมมารดาของหลวงปู่)
๗. นางน้อย
หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร
๏ ครอบครัวสอนวงศ์ษา
ต่อมาเมื่อนายสนได้มาพบนางสียา และได้รักใคร่ชอบพอกัน ตกลงใช้ชีวิตร่วมกันสร้างครอบครัวขึ้นมา โดยใช้นามสกุลว่า “สอนวงศ์ษา” ตั้งตามชื่อของบรรพบุรุษที่แรกเริ่มย้ายถิ่นฐานเข้ามาตั้งรกรากทางฝั่งไทย อันเป็นธรรมเนียมนิยมในสมันเริ่มแรกที่ให้มีการใช้นามสกุล ได้มีลูกด้วยกัน ๖ คน ตามลำดับดังนี้
๑. นายหลวง สอนวงศ์ษา (หลวงปู่หลวง กตปุญโญ)
๒. นายหลวย สอนวงศ์ษา (ถึงแก่กรรม)
๓. นางหลาว สอนวงศ์ษา (ถึงแก่กรรม) เคยบวชเป็นแม่ชี
อยู่ปฏิบัติพระลูกชายที่วัดศิลาวารี ต.เถินบุรี อ.เถิน จ.ลำปาง
๔. นางเลี่ยน สอนวงศ์ษา (ถึงแก่กรรม)
๕. นางล้อง สอนวงศ์ษา (ถึงแก่กรรม)
๖. นายไหล สอนวงศ์ษา (ถึงแก่กรรม)
นายหลวง สอนวงศ์ษา หรือหลวงปู่หลวง กตปุญโญ ได้ถือกำเนิดเกิดมาเมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๔ ตรงกับวันจันทร์ ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๔ ปีระกา ที่บ้านบัว ต.สว่าง อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร
การเป็นลูกชายคนโตของบิดามารดา จึงจำเป็นต้องช่วยเป็นกำลังสำคัญของทางบ้าน ช่วยแบ่งเบาภาระของบิดามารดาในการดูแลน้องๆ และงานในบ้านทั่วไป ตลอดจนช่วยเก็บหาพืชผักจับปลามาเลี้ยงชีพมาตั้งแต่ท่านอายุยังน้อย ชีวิตของชาวไร่ชาวนาในชนบทสมัยนั้น จำต้องพึ่งพาดินฟ้าอากาศเข้าช่วย หากฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาลหรือมีโรคแมลงระบาดเบียดเบียน พืชผลผลิตที่ปลูกก็เก็บเกี่ยวได้ไม่เต็มที่ เสียหายเยอะ ก็ต้องหาอาชีพอื่นมาช่วยเสริม เช่น รับจ้างทำงานต่างๆ ตามแต่จะหาได้ หรือปลูกพืชไร่อย่างอื่นทดแทน พอมีพอกินไม่ให้อดอยาก แม้ต้องเหน็ดเหนื่อยเพียงไรก็ตาม
นายสน-นางสียา ตลอดจนเด็กชายหลวงในสมัยนั้น ก็ต้องพากเพียรพยายามอดทนหาเลี้ยงชีวิตและครอบครัว โดยการทำนาทำสวนและค้าขายปลา หมุนเวียนกันไปตามแต่วาระโอกาส เฉกเช่นเดียวกับคนอื่นๆ ซึ่งต่างต้องดิ้นรนทำมาหากินด้วยกันทั้งนั้น จะดีกว่าปัจจุบันก็ตรงที่ค่าครองชีพไม่สูงนักอย่างสมัยนี้ ผักปลาก็หาได้ง่ายไม่ลำบากนัก ชีวิตความเป็นอยู่จึงสุขสบายตามอัตภาพ และดีที่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง ไม่ต้องไปเช่าเขาทำกิน
๏ ใช้กรรมเก่าตั้งแต่เด็ก
ด้วยเหตุที่ต้องช่วยงานทางบ้านตั้งแต่เป็นเด็กเล็ก เด็กชายหลวงในขณะนั้นแม้อายุเพียง ๕ ขวบ วันหนึ่งขณะที่ได้ช่วยแม่ใช้มอง (ที่ตำข้าว) ตำขาวอยู่นั้น เด็กชายหลวงมิทันระวังตัว ไม้ค้ำมองตำข้าวได้เกิดล้มมาทับข้อเท้าข้างขวาอย่างจัง จนข้อเท้าพลิกเดินไม่ปกติตั้งแต่นั้นมา
หลวงปู่หลวงท่านบอกว่า “เป็นกรรมเก่าของท่านเอง” ตั้งแต่อดีตชาติ เคยใช้เท้าขวาเตะผู้มีพระคุณ กรรมนั้นได้ตามมาส่งผลให้ต้องชดใช้ แม้จะล่วงเลยมานานนับอีกชาติหนึ่งก็ตาม ท่านว่ากรรมใดๆ ก็ตาม มิอาจตัดหรือลบล้างได้ ต้องชดใช้ เว้นแต่กรรมที่คู่กรณีต่างอโหสิกรรมต่อกันแล้วเท่านั้น จึงอาจระงับหมดไปได้ ยกเว้นกรรมที่เป็นอนันตริยกรรม คือ กรรมหนัก กรรมบางอย่างอาจขอผ่อนปรนจากหนักเป็นเบาได้ด้วยบุญกุศลที่ได้สร้างได้ทำ แต่ก็ยังต้องชดใช้บางส่วนที่เหลืออยู่ กรรมมันตามคอยส่งผลได้นับร้อยๆ ชาติ “คนเราทำกรรมก่อกรรมไว้ เมื่อตายไปก็ต้องชดใช้กรรมอยู่ในนรก จะยาวนานอย่างไรก็ตามความหนักเบาของกรรม พ้นจากนรกขึ้นมา ก็ต้องมาใช้เศษกรรมในภพภูมิอื่นต่ออีกจนหมดกรรม ใช่ว่าจะใช้กรรมหมดได้ในครั้งเดียว ชาติเดียว ครู่เดียว ฉะนั้น เราจึงไม่ควรประมาทในกรรม กรรมมันเป็นวิบาก กรรมมันตัดรอนเอาได้ทุกเมื่อ”
จากอุบัติเหตุในครั้งนั้น มีผลให้เด็กชายหลวงต้องป่วยหนักจนเกือบตาย นางสียาได้ไปขอบนบวชไว้ว่า ถ้าลูกของนางหายจากการป่วยครั้งนี้ จะให้บวชเป็นพระ อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ฝังใจเด็กชายหลวง นำไปสู่ความคิดที่จะเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ แม้ในภายหลังก่อนที่นางสียาจะถึงแก่กรรม นางก็ยังได้สั่งเสียลูกชายในวาระสุดท้ายว่า “ขอให้ลูกหลวงบวชให้ได้”
๏ บวชเป็นพระในมหานิกาย
ระหว่างนี้ นายหลวง สอนวงศ์ษา ได้ทำงานรับจ้างทั่วไป โดยเป็นช่างลูกมือการก่อสร้างบ้านและงานอื่นๆ เท่าที่จะหาได้ ทั้งในตัวจังหวัดอุดรธานีหรือแถบใกล้บ้าน เมื่อมีเวลาว่างก็เพียรศึกษาอ่านหนังสือธรรมะ และฝึกนั่งสมาธิตามตำราควบคู่กันไป ได้เห็นผู้คนรอบข้างต้องดิ้นรนทำมาหากิน ต้องเหน็ดเหนื่อยเมื้อยล้าอยู่แทบทุกวันตั้งแต่เช้ายันค่ำ วนเวียนอยู่เช่นนั้นเป็นกิจวัตร จะหาความสุขที่แท้จริงไม่ได้เลย ต่างมีภาระหน้าที่ที่ต้องทำเพื่อให้ชีวิตตนเองและครอบครัวอยู่ได้ บ้างก็พยายามสะสมเงินทองทรัพย์สมบัติ แต่ถึงจะยากดีมีจน มีฐานะ มีหน้าที่ มีชื่อเสียงเช่นไร ต่างก็หนีไม่พ้นที่จะต้องพบกับการเกิด การแก่ การเจ็บ และการตายไปได้ ไม่มีสิ้นสุด ชีวิตคนเราก็เท่านี้ ทำอย่างไรจึงจะพ้นจากวงเวียนแห่งกรรมเหล่านี้ไปได้
นายหลวงยิ่งศึกษาธรรมะจากหนังสือ แม้ไม่มีผู้ใดชี้แนะสั่งสอนเป็นครูบาอาจารย์ คงมีแต่หลวงลุงที่วัดเท่านั้นที่จะพอพึ่งพาปรึกษาได้ในบางเรื่อง ถึงแม้หลวงลุงจะเป็นพระที่บวชในพระศาสนา แต่ท่านก็มีกิจภาระมากมาย ทั้งต้องยุ่งกับเรื่องทุกข์ของชาวบ้านที่มาพึ่งพาขอความช่วยเหลือจากท่าน ด้วยเหตุที่ท่านเป็นพระที่เก่งทางไสยศาสตร์ ไหนจะสอนงานหนังสือนักธรรมที่ทำอยู่ ก็ไม่พ้นเรื่องยุ่งๆ ทางโลก
มีแต่หนังสือธรรมะที่หาอ่านได้เท่านั้น พอยึดเป็นแนวทางปฏิบัติได้ จะผิดถูกอย่างไรก็ตามที แต่เมื่อได้ทำสมาธิตามหนังสือแล้ว ก็เกิดผลจนน่าพอใจในระดับหนึ่ง จุดใดที่สงสัยก็ยังติดอยู่อย่างนั้น ไม่สามารถแก้ได้เอง คงทำตามความเข้าใจของตนเองเท่าที่ทำได้เท่านั้น ใจหนึ่งก็คิดอยากจะบวชเรียน เพื่อที่จะได้มีเวลาอ่านหนังสือและศึกษาธรรมให้เต็มที่ จะได้แสวงหาครูบาอาจารย์มาช่วยชี้แนะสั่งสอน ก็ได้แต่เพียงคิดดำริไว้ในใจเท่านั้น ยังหาโอกาสปล่อยวางภาระหน้าที่ไม่ได้สักที
จนวันหนึ่งได้มีโอกาสไปช่วยอาทำการก่อสร้างกฏิพระที่วัด ก็ได้ปรารภกับอาว่า ถ้าได้บวชก็จะดี เพราะตอนนี้ก็มีอายุครบบวชได้แล้ว ได้ปรึกษากับญาติผู้ใหญ่คนอื่นๆ ก็เห็นดีด้วย อนุญาตให้ได้บวชตามประสงค์
ครั้นเมื่อมีอายุได้ 22 ปีเต็มบริบูรณ์ ก็มีจังหวะที่ว่างเว้นจากหน้าที่การงาน หลวงลุงก็ได้ชวนให้บวชและไปอยู่ด้วยที่วัด จึงได้ทำการอุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์ในสังกัดมหานิกาย เช่นเดียวกับหลวงลุง คือ พระอาจารย์สีทอง พนฺธุโล ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับนามฉายาทางพระพุทธศาสนาว่า “ขนฺติพโลภิกฺขุ” ณ พัทธสีมาวัดศรีรัตนาราม บ้านบัว ต.สว่าง อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ นั่นเอง
พรรษาแรก
เมื่อได้บวชเป็นพระสมดังใจแล้ว ในพรรษาแรก พระภิกษุหลวง ขนฺติพโล ก็ได้อยู่จำพรรษาในวัดที่หลวงลุงเป็นเจ้าอาวาสอยู่ ได้ช่วยปฏิบัติรับใช้และศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม จนสามารถสอบนักธรรมชั้นตรีได้ ด้วยความเอาใจใส่ฝึกฝนและขยันท่องบ่นอ่านหนังสือ จนในบางครั้งครูที่สอนนักธรรมก็ให้ท่านช่วยสอนแทนในบางโอกาส พระหลวงก็ตั้งใจทำตามความสามารถ ทั้งยังช่วยหลวงลุงดูแลกิจของสงฆ์เป็นอันดี จนเป็นที่รักและไว้วางใจของทุกคนทั้งพระผู้ใหญ่และหมู่เพื่อน ถึงงานจะมากแต่ท่านก็ไม่ทิ้งกรรมฐาน คงหาโอกาสทำความเพียรโดยอาศัยตำราเป็นครูสอน เพราะเห็นผลจากการทำสมาธิแล้วว่า ช่วยให้มีความทรงจำดีและสติมั่นคงเช่นไร อาทิเช่น สามารถท่องจำบทสวดมนต์ได้หมดภายในเวลาเพียง ๒ วัน แต่ไม่จบปาฏิโมกข์เพราะไม่สบายเสียก่อน
พรรษาที่ ๒ เห็นความไม่แน่นอน
พระภิกษุหลวง ขนฺติพโล ได้พยายามใช้เวลาที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด เพราะเมื่อได้บวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาแล้ว ด้วยใจศรัทธาที่มีอยู่อย่างแรงกล้าตั้งแต่ครั้งที่เป็นฆราวาสได้เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ มีความตั้งใจที่จะเป็นพระภิกษุสงฆ์ที่ดีตามแบบอย่างของครูบาอาจารย์ที่ได้อ่านพบ จึงได้หมั่นปฏิบัติสมาธิภาวนา จนพระที่บวชอยู่ด้วยกันรู้สึกแปลกใจในการกระทำ บางองค์ถึงแม้บวชมากว่า ๒๐ พรรษา ก็ยังมาถามท่านว่า “ปฏิบัติหลายๆ ทิ้งกรรมฐานแล้วบ่” ซึ่งพอท่านได้ยินผู้ถามเช่นนั้น ก็รู้สึกสลดสังเวชใจที่พระทั่วไปส่วนใหญ่ถึงบวชมานานเพียงใด ก็ยังไม่มีความเข้าใจในกรรมฐานอย่างแท้จริง ไม่เข้าใจว่ากรรมฐานคืออะไร แต่ท่านก็ไม่ได้แสดงอาการโต้ตอบอย่างไร คงวางเฉยแล้วทำความเพียรต่อไปตามปกติ แต่เมื่อถูกพระผู้นั้นถามบ่อยๆ เข้า ท่านก็ตอบกลับไปว่า “ทิ้งได้อย่างไร” พลางเอามือจับที่เส้นผม แล้วพูดว่า “กรรมฐานคือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง นี่แหละ” จากนั้นมาก็ไม่มีใครมาถามท่านในเรื่องเช่นนี้อีกเลย
การบวชเป็นพระภิกษุต้องมีความศรัทธาและมีความอดทน ทั้งต่อกิเลสกามและวัตุกาม ที่อยู่รายรอบและนอนเนื่องอยู่ในขันธสันดานมาช้านาน หากไม่รู้จักหักห้ามจิตและอดทนแล้ว ก็ย่อมต้องพ่ายแพ้ต่อภัยกิเลสทั้งหลายได้โดยง่าย มักจะอยู่ได้ไม่ยืดไม่ทน หรือหากอยู่ได้นานก็เพราะจำทนอยู่ไม่มีหนทางที่ไปทำอย่างอื่น จึงจำเป็นต้องเป็นพระอยู่อย่างนั้น ยิ่งอยู่นานวันก็ยิ่งทำผิดพลาด เพราะอาจย่อหย่อนต่ออาบัติโดยไม่รู้ตัว มีแต่จะติดลบเป็นบาปเป็นกรรมมากยิ่งขึ้น ไม่ได้กระทำตนหรือประพฤติปฏิบัติให้เป็นพระที่แท้จริงให้เป็นเนื้อนาบุญที่ดี
ในที่สุดพระภิกษุหลายๆ รูปที่เคยบวชอยู่จำพรรษาด้วยกัน รวมทั้งตัวหลวงลุงเองซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดศรีรัตนาราม ยังต้องพ่ายต่อกิเลส พากันลาสิกขาออกไปมีครอบครัวหรือไปทำมาหากินทางโลก พอออกพรรษาต่างลาสิกขาออกไปจนหมด คงเหลือแต่พระภิกษุหลวงเพียงรูปเดียว ก่อนที่หลวงลุงจะสึกก็ยังได้มาชวนให้ท่านลาสิกขาด้วย จะได้ไปช่วยกันทำมาหากิน แต่ท่านไม่เอาด้วยเพราะยังมุ่งมั่นที่จะเป็นพระภิกษุอยู่ในพระพุทธศาสนา คงทำหน้าที่ของความเป็นพระต่อไป แม้จะต้องอยู่เพียงรูปเดียว
เมื่อวัดแทบร้างเพราะพระภิกษุพากันลาสิกขาออกไปจนเกือบหมด ชาวบ้านญาติโยมก็ได้เห็นว่าพระภิกษุหลวง ขนฺติพโล ซึ่งเหลืออยู่เพียงรูปเดียวนั้น มีความตั้งใจไม่เปลี่ยนแปร ตั้งมั่นอยู่ในเพศบรรพชิต ทั้งยังเป็นพระที่น่านับถือ อีกยังมีวิชาความรู้ติดตัวพอที่จะสามารถเป็นเจ้าอาวาสรูปใหม่ รักษาวัดต่อไปได้ ทางพระผู้ใหญ่ในตำบลก็เห็นสมควรด้วย จึงได้แต่งตั้งให้พระภิกษุหลวง ขนฺติพโล รักษาการเป็นเจ้าอาวาสแทนรูปเดิมที่ลาสิกขาไป ทั้งที่เพิ่งบวชมาได้เพียง ๒ พรรษานี่เอง พระหลวงจึงได้เป็นเจ้าอาวาสตั้งแต่พรรษายังน้อย แต่ก็เป็นที่ยอมรับนับถือของชาวบ้านญาติโยม ได้อยู่ครองดูแลวัดตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
พรรษาที่ ๓ และพรรษาที่ ๔
ตลอดพรรษาที่ ๓ และพรรษาที่ ๔ เมื่อเป็นเจ้าอาวาสแล้ว ท่านก็มีหน้าที่การงานที่ต้องรับผิดชอบมากขึ้นด้วย เป็นทั้งหัวหน้าและนักเรียน ช่วงเวลาตอนกลางวันก็เล่าเรียนนักธรรม ตกตอนกลางคืนก็นั่งภาวนา ทำอย่างนี้สลับกันไป จนกระทั่งสามารถสอบผ่านนักธรรมได้ มีความรู้ความสามารถมากขึ้น
หลวงปู่หลวง กตปุญโญ-หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม-หลวงปู่แว่น ธนปาโล
พระธาตุพนม (ในปัจจุบัน) ประดิษฐาน ณ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร
บ้านธาตุพนม ต.ธาตุพนม อ.ธาตุพนม จ.นครพนม
๏ ฟังธรรมจากท่านพระอาจารย์มั่น
ครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. ๒๔๘๗ ขณะที่เดินทางไปกราบมนัสการ พระธาตุพนม ได้ผ่านไปทางจังหวัดสกลนคร ก็ได้แวะไปกราบเยี่ยม หลวงปู่แว่น ธนปาโล ซึ่งขณะนั้นท่านพักอยู่ที่เสนาสนะป่าบ้านโคก อ.เมือง (ปัจจุบันอยู่ในเขต อ.โคกศรีสุพรรณ) จ.สกลนคร ในฐานะที่หลวงปู่แว่นท่านเป็นญาติผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง เมื่อหลวงปู่แว่นทราบว่าหลวงปู่หลวงมีความสนใจในการปฏิบัติกรรมฐาน อาจเป็นด้วยเคยมีบารมีธรรมเกื้อกูลกันมา ท่านจึงได้ชักชวนให้เข้าไปกราบ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ พระอาจารย์ใหญ่สายวิปัสสนาผู้มีชื่อเสียงโด่งดังในยุคนั้น ซึ่งในขณะนั้นท่านได้อยู่จำพรรษาที่เสนาสนะป่าบ้านโคกนั้นพอดี
เมื่อได้เข้าพบและมีโอกาสได้รับฟังการอบรมจากท่านพระอาจารย์มั่น ซึ่งขณะนั้นท่านได้ชราภาพมากแล้ว แต่ก็ยังคงแสดงธรรมได้อย่างพิศดารจับใจเป็นยิ่งนัก ใครได้ฟังก็รู้สึกซาบซึ้งใจในข้ออรรถข้อธรรมที่ท่านแสดง ซึ่งแต่ละคำแต่ละประโยค ล้วนมีข้อคิดลึกซึ้งและมีคำอธิบายได้แจ่มแจ้ง ช่วยให้เกิดความตื่นตัวและรักที่จะปฏิบัติธรรมยิ่งขึ้นไปอีก ช่วงระหว่างที่ท่านแสดงธรรม ทุกคนที่นั่งฟังต่างนิ่งสงบแทบไม่ไหวติง ต่างอยู่ในอาการถึงพร้อมด้วยสติที่จะน้อมรับนำพาธรรมะที่ท่านบรรยายมา ให้เข้าสู่จิตใจและปฏิบัติตามโดยมิย่อท้อ แม้พวกสามเณรในที่นั้นยังต้องแอบฟังด้วยใจจดจ่อด้วยไม่มีพื้นที่พอที่จะขึ้นไปฟังบนกุฏิที่แสดงธรรมของท่านได้ เพราะแต่ละคืน แต่ละคราวที่ท่านพระอาจารย์มั่นแสดงธรรมจะมีบรรดาพระเถรานุเถระที่เป็นศิษย์ในสายปฏิบัติ นั่งฟังอยู่เต็มไปหมด
ในอุบายธรรมที่ท่านพระอาจารยน์มั่นได้เทศน์อบรมในวันนั้น มีอุบายช่วงหนึ่งที่หลวงปู่หลวงได้จดจำนำมาพิจารณาเป็นพิเศษ จนเป็นข้อคิดสะกิดเตือนใจมาจนทุกวันนี้ มิลืมเลือน คือท่านได้เทศน์ว่า “ไปกราบแต่ธาตูพนม มันหลงธาตุ ธาตูโต (ตัวเรา) บ่ไหว้ ไปไหว้แต่ธาตุเพิ้น (คนอื่น) บ่มีหยัง มีแต่ก้อนอิฐ มันหลงธาตุ ปานคนโง่ง่าว ไปค้าขายแต่บ้านอื่น คนฉลาดมีปัญญา ค้าขายอยู่บ้านเจ้าของ ผู้เฒ่าหลงลืม มัดผ้าขาวม้าอยู่บนหัวแล้วไปหาที่อื่น แล่นเหาะแล่นหอบ (วิ่ง) ไปมาจนเหงื่อออก จึงฮู้ว่าอยู่บนหัว” หลวงปู่หลวงได้ฟังดังนั้นแล้วก็นำมาพิจารณา จึงรู้จริงเข้าใจแจ่มแจ้งว่า “ธรรมทั้งหมดมารวมอยู่ในกายนี้”
เมื่อได้ยินท่านพระอาจารย์มั่นท่านแสดงธรรมจบแล้ว หลวงปู่หลวงก็ได้คลายหายสงสัยว่า ทำไมพระนักปฏิบัติจึงไม่ต้องการแสวงหาลาภ ยศ สรรเสริญอีก
หลังจากได้ไปกราบมนัสการและฟังธรรมจากท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ แล้ว หลวงปู่หลวงก็ได้กลับมาที่วัดศรีรัตนาราม เพื่ออยู่ปฏิบัติหน้าที่ตามเดิม แต่ได้พยายามทำความเพียรในการปฏิบัติเพื่อให้ได้ผลและสามารถเข้าถึงธรรมอย่างเร็วที่สุดเท่าที่สติปัญญาจำพึงมีพึงทำ โดยมีกิจวัตรข้อปฏิบัติอย่างเคร่งครัด กล่าวคือ กลางวันก็จะไปปฏิบัติหน้าที่ซึ่งต้องรับผิดชอบในตำแหน่งเจ้าอาวาสที่วัดศรีรัตนาราม เขียนบัญชีพระเณรและเอกสารต่างๆ จนมือปวดมือแข็งด้านไปหมด ส่วนตอนกลางคืนก็จะกลับไปปฏิบัติธรรมเร่งความเพียรภาวนาตามลำพัง
แต่งานด้านการศึกษาเล่าเรียนก็ใช่ว่าจะทิ้งเสียทีเดียว คงหมั่นเพียรท่องจำศึกษาด้านนักธรรมควบคู่กันไปด้วยกับงานด้านการปกครองดูแลคณะสงฆ์ เรียกได้ว่าท่านคงหมั่นหาความรู้เข้าใส่ตัวอยู่เสมอ พร้อมทั้งความเพียรปฏิบัติภาวนาไปด้วย จนมีความก้าวหน้าทั้งสองด้านยิ่งขึ้นไป
ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทฺตตเถระ
หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร
๏ พบหลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร
หลวงปู่หลวง กตปุญโญ ในสมัยนั้น พอได้คิดว่าความสงบเท่านั้นที่จะนำพาความสุขเกิดขึ้นได้ จึงได้หาโอกาสฝึกฝนนั่งสมาธิภาวนาในยามค่ำคืน โดยบางครั้งก็หลบไปนั่งตามสถานที่เงียบสงบตามป่าใกล้หมู่บ้านอยู่เสมอ ช่วงกลางวันก็กลับมาทำหน้าที่ตามปกติ จนกระทั่งใกล้วันเข้าพรรษา หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร ผู้มีศักดิ์เป็นญาติกับท่านและเป็นศิษย์กรรมฐานองค์หนึ่งของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทฺตตเถระ พระอาจารย์ใหญ่สายกรรมฐานในยุคนั้น ได้กลับจากธุดงค์ผ่านมาเยี่ยมบ้าน และได้พักจำพรรษาที่วัดในบ้านเกิดของท่าน คือ วัดป่าหนองหญ้าปล้อง (ต่อมาภายหลังได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น วัดสันติสังฆาราม) บ้านบัว ต.สว่าง อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร
จึงนับว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ศึกษาธรรม และขอคำแนะนำหนทางการปฏิบัติ หลวงปู่หลวงท่านได้ไปกราบเยี่ยมและอยู่อุปัฏฐากรับใช้หลวงปู่สิมอยู่หลายเดือน พร้อมทั้งได้พักจำพรรษาอยู่กับหลวงปู่สิมในปีนั้นด้วย เมื่อมีโอกาสก็ขอศึกษาอบรมกรรมฐาน ตลอดจนข้อวัตรปฏิบัติจากหลวงปู่สิม ซึ่งหลวงปู่สิมท่านก็ได้ทดสอบอารมณ์และจิตใจของหลวงปู่หลวง ดูว่ามีความตั้งใจและเหมาะที่จะเกิดในสายทางธรรมพระกรรมฐานได้ดีเพียงไร และได้มอบอุบายธรรมตามสมควรให้ด้วยเมตตาธรรม
ภายหลังจากที่หลวงปู่สิมท่านได้ทดสอบจนเป็นที่พอใจแล้วว่า หลวงปู่หลวงมีจิตใจมั่นคงและรู้แนวทางพอที่จะเอาตัวรอดได้แล้ว พอใกล้ถึงเวลาออกพรรษา หลวงปู่สิมได้ดำริว่าเมื่อออกพรรษาแล้ว ท่านจะพาหลวงปู่หลวงออกเดินธุดงค์กรรมฐานสักระยะหนึ่ง เพื่อเป็นการหาประสบการณ์ โดยเลือกเอาป่าเขาภายในบริเวณจังหวัดสกลนครนั่นเอง เพราะสภาพป่าในสมัยนั้นยังคงมีความอุดมสมบูรณ์อยู่มาก ไม่ต้องไปไกลที่ไหนก็สามารถหาที่วิเวกเพื่อพักปฏิบัติได้ง่าย โดยหลวงปู่หลวงได้กระทำตามคำแนะนำและปฏิบัติข้อวัตรยามธุดงค์อย่างเคร่งครัด
ระหว่างนี้หลวงปู่หลวงได้กำหนดจดจำแบบอย่างและปฏิปทาของครูบาอาจารย์ โดยได้สอบถามและเรียนรู้จากหลวงปู่สิมในหลายๆ เรื่อง ยิ่งเพิ่มความเลื่อมใสศรัทธาในพระปฏิบัติกรรมฐานมากขึ้น เพราะแต่เดิมทีนั้นได้เรียนรู้ในภาคทฤษฏีและเรื่องราวของพระปฏิบัติในสายกรรมฐานจากหนังสือตำราเท่าที่หาอ่านได้เท่านั้น พอได้พบและมีโอกาสออกธุดงค์ปฏิบัติร่วมกับพระกรรมฐานจริงๆ เข้า ก็ยิ่งนำพาความปลาบปลื้มปีติและตื่นเต้นเป็นล้นพ้น
หลวงปู่หลวงได้พยายามตักตวงหาความรู้ และขออุบายธรรมการปฏิบัติจากของจริง จากการปฏิบัติธุดงค์จริงๆ อย่างตั้งใจ ถึงแม้จะเป็นเพียงระยะแรกของการออกธุดงค์ ผลของการฝึกจิตยังไม่ได้ผลละเอียดดีนักก็ตาม แต่ก็เป็นแนวทางพอประคับประคองจิตให้อยู่ในความสงบได้ ต่อจากนั้นเป็นเรื่องของการฝึกตนเองเพื่อสร้างสมอินทรีย์ให้แก่กล้า ต้องบ่มตนเองทั้งกายและใจให้แข็งแกร่ง จะได้มีความอาจหาญที่จะสู้รบกับกิเลสทั้งหลายได้
เมื่อได้อยูปฏิบัติธุดงค์ร่วมกับหลวงปู่สิมนานพอสมควร หลวงปู่สิมท่านเห็นว่าสมควรปล่อยให้หลวงปู่หลวงไปหาประสบการณ์ปฏิบัติภาวนาด้วยตนเองได้แล้ว จะได้หาโอกาสพบครูบาอาจารย์ท่านอื่นๆ ซึ่งยังมีอีกมากที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ หากเกิดติดขัดในการปฏิบัติตรงข้อใด ก็ให้ไปแสวงหาคำตอบจากครูบาอาจารย์ท่านอื่นๆ บ้าง ซึ่งแต่ละท่านนั้นจะมีอุบายธรรมและประสบการณ์ที่แตกต่างกันไป แต่หัวใจคือข้อธรรมที่เกิดขึ้นนั้นองค์สมเด็จบรมครู คือ ผู้มีพระภาคเจ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านได้ทรงเป็นผู้ค้นพบ และวางไว้เป็นแนวทางให้ยึดปฏิบัติตาม หลวงปู่สิมท่านจึงขอปลีกตนออกแสวงหาความวิเวกตามลำพังของท่านไปเรื่อยๆ
๏ คิดปล่อยวางภาระเพื่อการปฏิบัติ
หลังจากที่ได้แยกทางจากหลวงปู่สิม หลวงปู่หลวงก็ได้กลับไปพำนักอยู่ที่วัดเดิม คือ วัดศรีรัตนาราม บ้านบัว จ.สกลนคร ด้วยภาระหน้าที่ยังมีอยู่ จำต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปก่อน ทั้งที่จิตใจนั้นยังใฝ่ที่จะหาความสุขสงบอย่างแท้จริง พระภิกษุที่วัดซึ่งอยู่ด้วยกัน ก็ล้วนแล้วแต่บวชเข้ามาแล้วก็ลาสิกขาออกไปตามกำหนด จะหาผู้ใดที่บวชอยู่จริง บวชยาวอยู่นานๆ ก็ไม่ได้ ที่พอจะฝากฝังภาระหรือฝึกฝนให้รับทำหน้าที่แทนก็เลยไม่มี หลวงปู่หลวงได้แต่ปฏิบัติภาวนาไปตามลำพังด้วยตนเองโดยไม่มีครูบาอาจารย์มาแนะนำอยู่หลายปี
จนกระทั่งวันหนึ่งหลวงปู่หลวงก็ได้มาพิจารณาว่า ตนเองนั้นก็บวชมาหลายปี ได้ยศฐาบรรดาศักดิ์และตำแหน่งหน้าที่การงานเป็นถึงเจ้าคณะตำบล ด้วยอายุพรรษายังไม่มาก ได้เล่าเรียนนักธรรมจนมีความรู้พอที่จะสอนคนอื่นได้ ต้องมาติดอยู่กับการทำหน้าที่อันเป็นภาระที่หนักอึ้ง บางครั้งจะหาเวลาบำเพ็ญเพียรก็หาได้ไม่เต็มที่ ไปสั่งสอนญาติโยมที่ไหน เขาก็ฟังแล้วเดี๋ยวก็ลืม ไม่ค่อยมีใครน้อมนำเอาไปใช้ในชีวิตประจำวัน
วันหนึ่งๆ พวกชาวบ้านก็มักจะยุ่งกับเรื่องการทำมาหากิน ไปทำบุญหรือมีงานบุญที่ไหนก็มักจะต้องล้มวัวควายหรือฆ่าเป็ดไก่จับปูปลาเพื่อมาทำอาหารเลี้ยงดูกัน งานบุญกับมีบาปมาปนเปื้อนด้วย อย่างนี้แล้ว ไหนล่ะจะได้บุญที่แท้จริง ไม่รู้จักการทำบุญโดยเลี่ยงบาปเลยสักผู้เดียว โอ้ ! น่าอนาถนัก พระเองก็อาจเป็นต้นเหตุให้เขาฆ่าสัตว์มาทำบุญ ทำอย่างไรจึงจะหนีเรื่องเหล่านี้ได้
ยิ่งเมื่อได้เป็นเจ้าคณะตำบล เป็นพระสังฆาธิการปกครองคณะสงฆ์ ก็ได้มีโอกาสรับนิมนต์ไปเทศน์หรือปฏิบัติกิจต่างๆ ตามหมู่บ้านทั่วไป ก็ได้เห็นว่าทั้งพระและฆราวาสต่างหลงติดยึดในธรรมเนียมการเลี้ยงดูต้อนรับอย่างผิดๆ ในงานบุญก็มีการล้มวัว ควาย หมู และฆ่าเป็ดฆ่าไก่มาทำอาหารกิน ทั้งยังมีการเลี้ยงเหล้ายาปลาปิ้งกันอย่างสนุกสนาน เป็นค่านิยมที่ยึดถือตามกันมาอย่างหลงผิดและสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ
ท่านรู้สึกปลงสังเวชกับความคิดและการกระทำของคนเหล่านั้น ทั้งพระเองก็ยังทำตัวเหมือนชาวบ้าน เห็นชาวบ้านเขาทำบาปแทนที่จะอบรมหรือห้ามปรามชี้แนะ กลับเห็นดีเข้าร่วมวงกับเขาด้วย เช่น ชาวบ้านเขามาชวนให้กินมะขามเคลือ คือไข่มดแดงดิบๆ เอาเกลือโรยแล้วใส่น้ำปลาร้าเข้าหน่อย ก็กินกันได้อย่างเอร็ดอร่อย ท่านมองเห็นว่าชาวบ้านนั้นทำตัว น มันหายไปเหลือแต่ บ้า กันแล้ว
บางครั้งพระและชาวบ้านก็พากันไปทอดแหตกปลา เมื่อได้มาก็เอาไปทุบหรือหักคอ แล้วปิ้งย่างกินกันเดี๋ยวนั้น เป็นพระกลับไม่รู้ผิดรู้ถูกกับคนพวกนั้น บางทีก็มีการหยอกล้อกับสีกา พากันไปเดินเล่นชายหาดริมแม่น้ำ พูดจาเชิงเกี้ยวพา แล้วก็โยนทรายใส่กันทำทีเป็นใส่บาตร หลวงปู่หลวงท่านได้เห็นเช่นนั้นก็ยิ่งรู้สึกสลดใจในการกระทำของทั้งพระและชาวบ้านพวกนั้น ช่างไม่รู้บุญรู้บาปกันเสียเลย
พระที่บวชเข้ามา ก็ไม่ได้บวชเพราะศรัทธาในพระศาสนา ส่วนใหญ่บวชตามประเพณี เมื่อบวชแล้วก็ไม่คิดแสวงหาความรู้หรือศึกษาเล่าเรียนในทางธรรม คงบวชมาเพื่อเฝ้าไม่ให้วัดร้างเท่านั้น แทบจะพูดได้ว่าบวชมาเสียผ้าเหลืองเปล่าๆ อย่างเก่งก็หัดท่องบ่นสวดมนต์พอหากินได้ไปวันๆ เท่านั้น น้อยคนนักที่จะสนใจทำหน้าที่ แม้ได้สนใจเล่าเรียนนักธรรม หรือช่วยงานด้านปกครองดูแลวัดบ้างก็ยังดี พระส่วนใหญ่ถึงบวชอยู่เป็นพระไม่ได้นาน ที่อยู่นานจนเป็นพระหลวงตาได้ก็ต้องอดทนมาเต็มที่
หลวงปู่เริ่มรู้สึกเบื่อหน่ายในการทำหน้าที่ คิดว่าตนเองเกิดมาก็ตายเปล่า จะเอาดีอย่างไรก็ไม่ได้ ไม่สามารถเอาตัวรอดพ้นจากบาปกรรมหรือบ่วงกรรมได้เลย หากต้องอยู่ในสภาวะเช่นนี้เห็นทีจะไม่เกิดสติปัญญาสักอย่างเดียว คงต้องเกลือกกลั้วปนอยู่กับพวกเขา พวกชาวบ้านหรือพระองค์อื่นๆ ไม่นานก็คงต้องลาสิกขาไปเช่นเดียวกัน
แต่พระที่ปฏิบัติกรรมฐาน ไม่เห็นมีท่านใดที่สนใจในยศฐาบรรดาศักดิ์และตำแหน่ง ล้วนแต่ปลีกตัวตนอยู่แต่ในพงไพรแสวงหาโมกขธรรมเพื่อความหลุดพ้นด้วยตนเองอย่างจริงจัง
ท่านรำพึงกับตนเองและคิดทบทวนอยู่หลายหน จนในที่สุดก็คิดที่จะสละตำแหน่งเจ้าคณะตำบล โดยการลาออกเสีย ปล่อยให้ทางการปกครองสงฆ์เขาหาทางแก้ปัญหากันเอง บริหารกันเอง ส่วนตัวท่านนั้นขอออกปลีกวิเวกธุดงค์ไปตามป่าเขาลำเนาไพรแต่ลำพัง เพื่อที่จะได้ปฏิบัติกรรมฐานได้อย่างเต็มที่
เมื่อคิดได้ดังนั้นก็พอดีใกล้ถึงวันเข้าพรรษา จึงได้ตัดสินใจมาพำนักอยู่จำพรรษาที่ วัดป่าหนองหญ้าปล้อง (วัดสันติสังฆาราม) จ.สกลนคร เพราะที่วัดนี้ทั้งพระและชาวบ้านมีความคุ้นเคยและรู้จักการปฏิบัติภาวนาดีอยู่แล้ว ด้วยหลวงปู่สิมท่านได้มาปูพื้นฐานไว้ให้ก่อนแล้ว จึงทำให้เกิดความสบายใจในการปฏิบัติทำความเพียร ครั้นพอออกพรรษา หลวงปู่หลวงท่านก็ออกเที่ยวจาริกธุดงค์ตามแบบอย่างพระกรรมฐาน
หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ
หลวงปู่ขาว อนาลโย
หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
๏ พบครูบาอาจารย์
ระหว่างที่ออกท่องธุดงค์ไปเรื่อยๆ นั้น ก็มีโอกาสได้พบและได้เข้าฟังธรรม พร้อมทั้งฝึกวิปัสสนากับพระอาจารย์ในสายกรรมฐานอีกหลายๆ รูป อาทิเช่น หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ, หลวงปู่ขาว อนาลโย, หลวงปู่ฝั้น อาจาโร เป็นต้น ถึงแม้ว่าขณะนั้นพระหลวง จะยังเป็นพระอยู่ในฝ่ายมหานิกายก็ตาม ครูบาอาจารย์เหล่านั้นก็ไม่ได้ตั้งข้อรังเกียจแต่ประการใด ทั้งยังได้เมตตาช่วยชี้แนะสอนสั่งให้อุบายธรรมและแก้ข้อปัญหาที่ติดขัดให้อย่างดี เพราะท่านเหล่านั้นเห็นว่าพระหลวงมีความตั้งใจและสนใจในการปฏิบัติธรรมเพื่อความหลุดพ้น มีแววว่าต่อไปจะเป็นกำลังสำคัญช่วยเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนในทางสายวิปัสสนากรรมฐานได้ ชาวบ้านจะได้มีที่พึ่งอันควรแก่การกราบไหว้เคารพบูชา ได้มีเนื้อนาบุญที่ดี (ซึ่งในกาลต่อมาก็เป็นเช่นดังนั้นจริงๆ)
ศิษยานุศิษย์พระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ที่มาในงานประชุมเพลิงศพท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ
ณ วัดป่าสุทธาวาส ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมือง จ.สกลนคร เมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๔๙๓
๏ พระอาจารย์ใหญ่ละสังขาร
ในราวปี พ.ศ. ๒๔๙๒ ข่าวท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ อาพาธได้แพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็ว บรรดาพระกรรมฐานที่เป็นศิษยานุศิษย์เมื่อได้ทราบข่าว ต่างพากันเดินทางมากราบเยี่ยมดูแลท่านมิขาดสาย ท่านพระอาจารย์มั่นถึงจะยิ่งใหญ่ในสายทางธรรมสักเพียงใด ท่านก็ยังไม่สามารถหลีกหนีพ้นจากกฎแห่งการเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย ไปได้ อันเป็นเรื่องธรรมดาของสังขาร
ระยะสุดท้ายของชีวิตท่าน คือตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๕ เป็นต้นมา ท่านพระอาจารย์มั่นได้ปักหลักพำนักเผยแผ่พระธรรมคำสอน อยู่ที่เสนาสนะป่าบ้านโคกและที่บ้านนามน ต.หนองโขบ อ.เมือง จ.สกลนคร รวม ๓ พรรษา จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๘๘ ท่านจึงได้ย้ายมาพักอยู่ที่เสนาสนะป่าบ้านหนองผือ ต.นาใน อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร อีก ๕ พรรษา จนใกล้วาระสุดท้ายแห่งชีวิต ช่วง ๘ ปีสุดท้ายในวัยชรานี้ ท่านพระอาจารย์มั่นได้ทำหน้าที่อบรมสั่งสอนบรรดาศิษยานุศิษย์เป็นประจำทุกวันอย่างปกติ จะพิเศษก็ตรงที่ใจความข้อธรรมที่ถ่ายทอดหลั่งไหลออกมานั้น จะบ่งชัดชี้แนะและมีความเข้มลึกซึ้งมากกว่าเดิม ท่านจะพูดเตือนพระเณรให้มีความตั้งใจเร่งปฏิบัติธรรม โดยเฉพาะงานทางจิตภาวนาถือเป็นงานสำคัญที่ทุกคนจะต้องแก้ต้องทำ การอยู่ร่วมกันใช่ว่าจะจีรัง กายสังขารของเราก็เช่นกันอย่าคิดว่ามันจะอยู่กับเราตลอดไป ความไม่แน่นอนนั้นเที่ยงแท้กว่าทุกสิ่ง เพราะท่านรู้ตัวเองว่ามีเวลาเหลือน้อยลงทุกวันแล้ว ทั้งยังได้เคยพยากรณ์ตนเองว่าจะมีอายุสังขารเพียง ๘๐ ปี ซึ่งในปี พ.ศ. ๒๔๙๒ นี้ ท่านก็จะมีอายุครบ ๘๐ ปีพอดี
ท่านยังเคยได้ปรารภต่อศิษยานุศิษย์ที่เป็นพระผู้ใหญ่ว่า “หากท่านตายลง ณ บ้านหนองผือนี้ สัตว์ก็ต้องตายตามไม่ใช่น้อย ถ้าตายที่วัดป่าสุทธาวาส ก็ค่อยยังชั่วเพราะมีตลาด”
จะเห็นได้ว่าท่านพระอาจารย์มั่นได้เล็งเห็นความสำคัญของชีวิตสัตว์ ที่จะต้องมาตายเพราะถูกฆ่าเพื่อเอาเนื้อมาทำอาหารเลี้ยงดูพระและผู้คนในงานศพ ท่านจึงไม่ปรารถนาให้สัตว์ในเขตบ้านหนองผือต้องตายตกไปตามกันเพราะท่านเป็นเหตุ แต่ที่วัดป่าสุทธาวาส ซึ่งตั้งอยู่ในเขต อ.เมือง จ.สกลนคร นั้นอยู่ใกล้ตลาดสดมีการขายเนื้ออยู่เป็นปกติ หาซื้อได้ง่าย ไม่ต้องมีการฆ่าเพื่อเอาเนื้อมากมายนัก
ดังนั้น เมื่อท่านพระอาจารย์มั่นมีอาการอาพาธหนัก คณะศิษยานุศิษย์จึงได้ทำการเคลื่อนย้ายสรีระสังขารท่านมาพักรักษาที่เสนาสนะป่ากลางโนนภู่ บ้านกุดก้อม ต.ไร่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร เพราะสะดวกต่อหมอในการมาตรวจรักษา และศิษยานุศิษย์ก็มากราบเยี่ยมถวายการปรนนิบัติดูแลได้ง่าย อาการของท่านก็มีแต่ทรงกับทรุด จะสงบระงับบ้างก็เพียงชั่วคราว ได้พักรักษาท่านที่นั่นประมาณ ๑๐ วัน
ครั้นเมื่อถึงวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๒ อาการป่วยของท่านก็เริ่มกำเริบ จึงได้จัดการเคลื่อนย้ายสังขารท่านมายังวัดป่าสุทธาวาสโดยทางรถยนต์ เพื่อเฝ้าดูอาการในระยะสุดท้าย บรรดาศิษยานุศิษย์ทั้งหลายต่างห่วงใยเฝ้ารอฟังอาการของท่านด้วยความสงบแต่จดจ่อ ในที่สุดท่านพระอาจารย์มั่น พระอาจารย์ใหญ่ในสายวิปัสสนาธุระอันเป็นที่รักและเคารพยิ่งของทุกคน ก็ได้ค่อยจากไปด้วยอาการสงบ ท่ามกลางหมู่ศิษย์และผู้ใกล้ชิดทั้งหลาย สิริรวมอายุได้ ๘๐ ปี ตรงตามที่ท่านได้เคยกำหนดไว้ ในเวลาราวตีสองกว่าๆ ตรงกับวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๒ ณ วัดป่าสุทธาวาส ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมือง จ.สกลนคร
กำหนดการถวายพระเพลิงศพท่านพระอาจารย์มั่น ได้กำหนดให้มีขึ้นในวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๓ ปีขาล ในช่วงปลายเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๙๓ คณะสงฆ์ผู้ใหญ่และหมู่ศิษย์ทั้งพระภิกษุสามเณรตลอดจนฆราวาสที่เคารพนับถือท่าน จากทั่วทุกสารทิศทั้งใกล้-ไกล ได้พร้อมใจกันเดินทางมาร่วมงานในวันนั้นเพื่อเป็นการแสดงความระลึกถึงพระเถระผู้ใหญ่ ผู้ซึ่งกล้าเผชิญกับความตายโดยไม่หวาดหวั่น ไม่มีอาการสะทกสะท้านเลยแม้แต่น้อย
บรรดาศิษยานุศิษย์ผู้มั่นคงแก่กล้าในทางธรรม ถึงจะมีความสลดสังเวชขึ้นในใจ ก็ไม่ได้แสดงออกซึ่งอาการเสียใจให้เห็นเป็นเยี่ยงอย่าง เพราะได้พิจารณาเห็นเป็นเรื่องธรรมดาของกายสังขาร ต้องมีเกิด มีแก่ มีเจ็บ และต้องตายไปในที่สุด อันเป็นวังวนของวัฏสงสาร
สำหรับท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ ผู้กล้าองค์นี้แล้ว บรรดาศิษยานุศิษย์ต่างเชื่อมั่นแน่ว่า ท่านพ้นแล้ว ไปดีแล้ว ไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตาย-เกิดในโลกอันวุ่นวายนี้อีกแล้ว เพราะว่าท่านสามารถตัดและสละหลุดพ้นในวัฏฏะได้เป็นที่แน่นอนแล้ว ป่วยการที่จะมัวเศร้าโศรกเสียใจกับการจากไปของท่าน
แต่ก็เป็นการยากสำหรับศิษยานุศิษย์บางท่านบางคน เพราะได้อยู่ใกล้ชิดคอยอุปัฏฐากปฏิบัติรับใช้ท่านมานาน ได้ยินได้ฟังและได้เห็นทั้งคำพูดคำสอน อันเป็นโอวาทและจริยาท่าทางการทำข้อวัตรของท่านอยู่เป็นนิจ ความผูกพันย่อมมีขึ้นได้มากอย่างสุดหัวใจ เหมือนดั่งพระอานนท์ที่คอยอยู่ถวายการอุปัฏฐากรับใช้พระพุทธเจ้า ในยามที่พระพุทธองค์จะทรงละสังขารเข้าสู่ปรินิพพานเป็นที่สุดนั้น พระอานนท์ยังอดไม่ได้ที่จะแอบร้องไห้ด้วยความอาดูรเป็นยิ่งนัก กว่าจะรู้สึกตัวตนทำใจได้ ท่านก็ต้องใช้เวลาพอสมควร
ส่วนสำหรับผู้ที่ยังทำใจไม่ได้ โดยทั่วไปก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่จะต้องโศการำพัน เพราะความที่ตนยังเข้าไม่ถึงธรรม ไม่เข้าใจในธรรมนั่นเอง
องค์พระพุทธชินราช ประดิษฐาน ณ วิหารพระพุทธชินราช วัดป่าหนองหญ้าปล้อง
หรือวัดสันติสังฆาราม (ในปัจจุบัน) บ้านบัว ต.สว่าง อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร
รูปหล่อหลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร ณ วัดป่าหนองหญ้าปล้อง (วัดสันติสังฆาราม)
๏ ตั้งสัจจะอธิษฐานต่อหน้าพ่อแม่ครูบาอาจารย์
พระภิกษุหลวง ขนฺติพโล ในพรรษานั้นคงพักจำพรรษาอยู่ที่ วัดป่าหนองหญ้าปล้อง (วัดสันติสังฆาราม) จ.สกลนคร เช่นเดิม ได้เดินทางไปร่วมงานประชุมเพลิงศพท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ กับเขาด้วย เพราะมีความเคารพต่อท่านเหมือนประดุจดังพ่อแม่ครูบาอาจารย์ คือสำหรับพระป่ากรรมฐานแล้วจะพากันให้ความเคารพต่อท่านพระอาจารย์มั่นเป็นอย่างสูง ด้วยท่านเปรียบเหมือนทั้งพ่อเป็นทั้งแม่ และครูบาอาจารย์ ที่ให้กำเนิดในธรรม ท่านถ่ายทอดชี้แนะชี้นำให้ความรู้ที่จำเป็นอันสำคัญทุกอย่างทุกด้าน ที่จะให้อยู่รอดและมีความเจริญก้าวหน้าในทางธรรมได้ และเพื่อประโยชน์สุขในทางโลก อย่างยากที่จะหาผู้ใดเทียบเท่าได้
แม้จะเพียงเคยได้รับฟังคำเทศน์คำสอนของท่านพระอาจารย์มั่นเพียงครั้งเดียว แต่หลวงปู่หลวงก็มีความซาบซึ้งอยู่ในจิตใจเป็นที่สุด เพราะท่านได้ช่วยชี้นำหนทางคือความสว่างแห่งชีวิต สู่หนทางสัจธรรมความเป็นจริง ทำให้เข้าใจและเข้าถึงธรรมขั้นสูงทั้งหลายได้ในกาลต่อมา
ณ ต่อหน้าพระศพของท่านพระอาจารย์มั่น หลวงปู่หลวงได้เข้าไปกราบสักการะเป็นครั้งสุดท้าย และตั้งสัจจะอธิษฐานว่า “จะขอตั้งใจอย่างเด็ดเดี่ยวที่จะประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย เพื่อให้ได้โลกุตรธรรม โดยในปีนี้จะขอออกเดินธุดงค์กรรมฐานปฏิบัติธรรมให้ได้เยี่ยงผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบทั้งหลาย”
๏ แปรญัตติเป็นธรรมยุติกนิกาย
ภายหลังจากที่เสร็จสิ้นงานประชุมเพลิงศพท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ แล้วได้ประมาณ ๑๐ วัน พระภิกษุหลวง ขนฺติพโล ก็ได้เข้าไปกราบลาเจ้าคณะอำเภอพรรณานิคม โดยให้เหตุผลว่า “กระผมขออนุญาตไปศึกษาธรรมทางภาคเหนือ เพื่อเพิ่มพูนปัญญาในทางธรรม” ทางเจ้าคณะอำเภอท่านก็อนุญาตแต่โดยดี
ราวต้นปี พ.ศ. ๒๔๙๓ นั่นเอง หลวงปู่หลวงก็ได้เก็บข้าวของและนำไปเฉพาะเครื่องอัฐบริขารที่จำเป็นในการธุดงค์ แล้วออกรอนแรมเดินทางมุ่งสู่ภาคเหนือ โดยตั้งใจว่าจะไปกราบหลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร ซึ่งได้ข่าวว่าท่านพักจำพรรษาอยู่ที่ วัดสันติธรรม ในเมืองเชียงใหม่ เมื่อไปถึง จ.เชียงใหม่ และได้ไปกราบหลวงปู่สิมที่วัดสันติธรรมสมความตั้งใจแล้ว หลวงปู่หลวงก็ได้ไปกราบเรียนปรึกษาถึงเรื่องการแปรญัตติใหม่ เพื่อเป็นพระในสังกัดธรรมยุติกนิกาย ซึ่งหลวงปู่สิมท่านเมตตาเห็นชอบด้วย อนุญาตและแนะนำให้ไปหาหลวงปู่แว่น ธนปาโล ที่ วัดถ้ำพระสบาย ต.นาครัว อ.แม่ทะ จ.ลำปาง เพื่อที่จะเป็นธุระแทนท่านในการนี้
ทางหลวงปู่แว่นท่านก็ยินดี ได้จัดแจงเตรียมการเป็นธุระให้ในหลายๆ เรื่อง ส่วนตัวหลวงปู่หลวงนั้นได้ย้ายไปตระเตรียมเครื่องอัฐบริขารในการบวชที่ วัดป่าสำราญนิวาส ต.ศาลา อ.เกาะคา จ.ลำปาง โดยได้ทำการตัดเย็บและย้อมผ้าสบงจีวรตลอดจนสังฆาฏิด้วยตนเองจนเสร็จเรียบร้อย โดยได้มีคณะศรัทธาญาติโยมใน อ.เกาะคา ร่วมเป็นเจ้าภาพ ได้ทำการแปรญัตติใหม่เป็นพระในสังกัดธรรมยุติกนิกาย เมื่อวันที่ ๙ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ ณ พัทธสีมาวัดเชตวัน ต.หัวเวียง อ.เมือง จ.ลำปาง โดยมี ท่านพระครูธรรมาภิวงศ์ เป็นพระอุปัชฌาย์, หลวงปู่แว่น ธนปาโล เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ (ซึ่งในขณะนั้นหลวงปู่เหรียญ กำลังสร้างวัดสันติสุขขาราม หรือวัดป่าสันติสุขสามัคคี ต.ล้อมแรด อ.เถิน จ.ลำปาง)
หลวงปู่หลวงได้รับนามฉายาใหม่ว่า “กตปุญฺโญภิกขุ” ขณะนั้นมีอายุ ๒๙ ปี เริ่มนับพรรษาใหม่ จากเดิมที่บวชเป็นพระในมหานิกายมาได้ ๘ พรรษา ในการบวชวันนั้นได้มี ท่านพระอาจารย์บัวไข สนฺตจิตฺโต (อดีตเจ้าอาวาสวัดสันติสังฆาราม จ.สกลนคร ปัจจุบันมรณภาพแล้ว เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ เวลา ๒๑.๐๐ น. สิริรวมอายุได้ ๗๙ ปี ๑ เดือน ๒๒ วัน พรรษา ๕๙ - สาวิกาน้อย) มาร่วมบวชเป็นสามเณรด้วย
หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ
พระอาจารย์บัวไข สนฺตจิตฺโต
๏ ธุดงค์ก็ไม่ละ การเรียนก็ไม่เว้น
หลังจากที่ได้แปรญัตติแล้ว พระภิกษุหลวง กตปุญฺโญ ก็ได้พักจำพรรษาอยู่กับหลวงปู่แว่น ธนปาโล ที่วัดถ้ำพระสบาย จ.ลำปาง เพื่อช่วยกิจการงานและฝึกปฏิบัติธรรมกับท่าน พอมีเวลาหลวงปู่แว่นก็ได้ชวน ท่านพระอาจารย์น้อย สุภโร และพระภิกษุหลวง ออกเดินธุดงค์ไปในหลายจังหวัดในภาคเหนือ เช่น ทางจังหวัดอุตรดิตถ์ แพร่ น่าน เชียงราย และลำปาง เป็นต้น โดยถือรุกขมูลปักกรดในที่ต่างๆ เช่น ตามป่าช้าที่ห่างไกลจากหมู่บ้าน ตามถ้ำหรือเชิงผาในเขตป่าเขา ตามน้ำตก หรือแม้กระทั่งตามสวนผลไม้ของชาวบ้านที่สงบเงียบแถบ อ.ลับแล เป็นต้น เพื่อแสวงหาที่เงียบสงัดอันเหมาะในการบำเพ็ญสมณธรรมอย่างแท้จริง
ขณะเดียวกันเมื่อไม่ได้ออกธุดงค์ คือช่วงใกล้เข้าพรรษาก็ได้กลับมาพักจำพรรษาที่วัดถ้ำพระสบาย จ.ลำปาง ซึ่งในระหว่างนี้ก็จะใช้เวลาส่วนใหญ่ศึกษานักธรรม เล่าเรียนบาลี เพื่อที่จะได้สอบเป็นมหาเปรียญ พระภิกษุหลวงกระทำเช่นนี้ตลอด ๓ พรรษาแรก แต่ไม่ได้สอบเป็นมหาเปรียญแต่สอบนักธรรมชั้นโทได้ ท่านเคยเรียนนักธรรมตั้งแต่ครั้งเป็นพระมหานิกายที่ จ.สกลนคร โดยพยายามสอบให้ได้ถึงนักธรรมชั้นเอก ไปสอบอยู่ ๓-๔ ปี แต่ไม่ได้เพราะไม่ค่อยมีเวลาดูหนังสือ ด้วยสมัยนั้นท่านมีกิจการงานด้านการปกครองค่อนข้างเยอะ
ท่านเล่าว่า ในสมัยที่อยู่ จ.สกลนคร โดยเฉพาะที่บ้านบัวซึ่งเป็นบ้านเกิดของท่าน มีผู้สอบได้เปรียญมากที่สุด สูงสุดได้ถึงเปรียญ ๗ ประโยค แต่ก็อยู่เป็นพระได้ไม่นาน พากันลาสิกขากันหมด ไปมีครอบครัวบ้าง ไปรับราชการเป็นครูบ้าง เป็นตำรวจหรือตำรวจรถไฟบ้าง ฯลฯ เพื่อนๆ รุ่นเดียวกันที่เคยบวชเรียนอยู่ด้วยกัน เขาสอบกันได้หมด คงมีแต่ท่านเท่านั้นที่เรียนแล้วไม่ได้สอบหรือสอบไม่ได้ สมัยนั้นถ้าไม่ได้นักธรรมชั้นตรี ก็จะไม่ได้สอบเป็นมหาเปรียญ ยิ่งถ้าได้นักธรรมชั้นเอก ก็มีสิทธิสอบมหาเปรียญ ๖-๙ ประโยคได้
ท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีลเถระ
๏ จากวัดป่าสำราญนิวาสถึงวัดถ้ำพระสบาย
ขอแทรกเรื่องราวและประวัติความเป็นมาของวัดป่าสำราญนิวาส และวัดถ้ำพระสบายไว้ ณ ที่นี้สักเล็กน้อย
แรกเริ่มเดิมทีในราวก่อน พ.ศ. ๒๔๘๖ อยู่หลายปี ได้มีพ่อค้าขายของคนหนึ่งชื่อว่า นายวงศ์ เป็นคนบ้านหนองแหวน ต.ศาลา อ.เกาะคา จ.ลำปาง ทำการซื้อของจากเมืองพม่าแล้วนำไปขายทางภาคอีสาน แถบ จ.นครราชสีมา เรื่อยไปจนถึงเขต จ.อุบลราชธานี จนไปมีครอบครัวอยู่ที่ อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี จึงได้ตั้งหลักทำมาหากินอยู่ที่นั่นจนมีลูกหลานหลายคน
ขณะนั้น ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ และท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีลเถระ เป็นพระนักปฏิบัติพระกรรมฐานที่มีชื่อเสียงมากในเขต จ.อุบลราชธานี จ.สกลนคร และหลายจังหวัดด้านอีสานติดริมแม่น้ำโขง มีสาธุชนชาวบ้านจำนวนมากเคารพนับถือท่านพระอาจารย์ทั้งสอง ทั้งพระภิกษุ-สามเณร และฆราวาส ต่างพากันสนใจติดตามไปฟังธรรมจนเกิดความเลื่อมใสศรัทธาไปตามๆ กัน
นายวงศ์ในขณะนั้น มีครอบครัวอยู่ที่ จ.อุบลราชธานี เป็นผู้ที่มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนามากคนหนึ่งเช่นกัน เมื่อได้ยินข่าวว่าท่านพระอาจารย์ทั้งสองได้ธุดงค์กรรมฐานไปยังสถานที่ใกล้ๆ บ้าน ก็ได้หาโอกาสเข้าไปกราบและฟังธรรมพร้อมด้วยชาวบ้านญาติโยมจำนวนหนึ่ง
เมื่อได้ยินได้ฟังข้อธรรมคำสอนที่ท่านพระอาจารย์ทั้งสองได้ร่วมกันแสดงและตอบปัญหาธรรม ต่างก็รู้สึกกินใจและซาบซึ้ง โดยเฉพาะนายวงศ์ได้เกิดความเลื่อมใสศรัทธาขึ้นมาอย่างมาก ถึงกับคิดจะละวางภาระทางครอบครัว ออกบวชปฏิบัติติดตามท่านพระอาจารย์ทั้งสองไปด้วย ได้บอกลาขออนุญาตลูกเมียเพื่อออกบวช ทางครอบครัวก็ไม่ขัดข้องแต่ประการใด จึงได้มาบวชปฏิบัติอยู่กับท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีลเถระ ที่ วัดเลียบ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี ได้รับนามฉายาว่า “ขนฺติสาโรภิกขุ”
วัดถ้ำพระสบาย ต.นาครัว อ.แม่ทะ จ.ลำปาง
ครั้นอยู่มาได้ ๔ พรรษา หลวงพ่อวงศ์ ขนฺติสาโร ได้รำลึกคุณของบิดา-มารดาที่ตายไปแล้ว เกิดความปรารถนาที่จะทำบุญอุทิศให้แก่ท่านทั้งสอง หลวงพ่อวงศ์จึงได้ลาครูบาอาจารย์เดินทางกลับมายัง จ.ลำปาง บ้านเกิดถิ่นปิตุภูมิ-มาตุภูมิที่บ้านหนองแหวน ได้มาพักรุกขมูลอยู่ใกล้กับโรงงานน้ำตาลไทย และวัดไร่อ้อย
เมื่อคณะศรัทธาชาวบ้านที่อยู่ที่โรงงานน้ำตาลไทย ได้เห็นมีพระธุดงค์มาปักกลดพักอยู่ ณ ที่นั้น จึงได้มาสนทนาด้วยจนกระทั่งเกิดความเลื่อมใสในตัวหลวงพ่อวงศ์ ด้วยเห็นว่าท่านเป็นคนบ้านดียวกัน คือเป็นคนถิ่นเหนือเมืองลำปางเช่นเดียวกัน จึงได้ช่วยกันบำรุงอุปัฏฐากเป็นประจำ โดยนิมนต์ให้พักอยู่ที่ตรงใต้ต้นฉำฉา (จามจุรี) ใกล้กับโรงงานน้ำตาลไทย (ทางด้านทิศใต้ของวัดป่าสำราญนิวาส ในปัจจุบันนี้)
พอออกพรรษาในปี พ.ศ. ๒๔๙๐ แล้ว หลวงพ่อวงศ์ ขนฺติสาโร ท่านจะออกเดินธุดงค์กรรมฐานต่อไป แต่คณะศรัทธาชาวบ้านในโรงงานน้ำตาลไทยเกิดมีศรัทธาแก่กล้าที่จะสร้างวัดถวาย เพื่อที่จะได้มีวัดฝ่ายปฏิบัติสักแห่งเกิดมีขึ้นในเมืองลำปางนี้ จึงได้นิมนต์ให้หลวงพ่อวงศ์ช่วยเป็นประธานในการสร้างวัดแห่งนี้ แต่ทางหลวงพ่อวงศ์ได้ปฏิเสธไปโดยบอกว่า “ท่านเป็นพระบวชเมื่อแก่ ไม่มีวาสนาบารมีพอที่จะสร้างวัดวาอารามขึ้นมาได้ หากพวกญาติโยมต้องการจะสร้างวัดขึ้นมาจริงๆ ก็ให้ไปนิมนต์พระที่เป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร ซึ่งอยู่ที่วัดป่าโรงธรรมสามัคคี อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ โน่นเถอะ”
ขณะเดียวกันหลวงปู่แว่น ซึ่งในพรรษานั้นได้จำพรรษาร่วมกับหลวงปู่สิม ที่ วัดป่าโรงธรรมสามัคคี ต.สันกำแพง อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ในช่วงกลางพรรษาหลวงปู่แว่นได้ตั้งสัจจะอธิษฐานขึ้นว่า “ในภาคเหนือนี้จะมีที่ใดหนออันจะเป็นสถานที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง ท่านจะได้ทำให้เกิดมีขึ้นสักแห่งหนึ่ง”
(จากซ้ายไปขวา) หลวงปู่ทองบัว ตนฺติกโร วัดโรงธรรมสามัคคี,
พระพุทธพจนวราภรณ์ (หลวงปู่จันทร์ กุสโล), หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม,
หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร และหลวงปู่เกตุ วณฺณาโก
พระครูการุณยธรรมนิวาส (หลวงปู่หลวง กตปุญโญ)
๏ ตรงตามนิมิต
หลังจากนั้นเพียงไม่กี่วัน หลวงปู่แว่นท่านก็ได้นิมิตฝันไปว่า ได้เหาะลอยขึ้นไปในอากาศ สูงจากพื้นดินราว ๗ ชั่วตำบล แล้วลอยมาทางทิศใต้ของเมืองเชียงใหม่ จนกระทั่งถึงเมืองลำปาง ก็ปรากฏเห็นเครื่องจักรขนาดใหญ่ได้หมุนลื่นๆ ดังลั่นอยู่เหนือพื้นดินที่แห่งหนึ่งทางตอนใต้ของเมืองลำปาง (ซึ่งก็คือบริเวณโรงงานน้ำตาลไทยที่ อ.เกาะคา ทางทิศตะวันตกของวัดป่าสำราญนิวาส ในปัจจุบัน)
ครั้นพอออกพรรษา ทางหมู่คณะศรัทธาโรงงานน้ำตาลไทยที่ อ.เกาะคา ก็ได้ให้พ่อหนานแก้ว อินต๊ะเทพ เป็นตัวแทนหมู่คณะ เดินทางมาตามคำบอกของหลวงพ่อวงศ์ มายังวัดป่าโรงธรรมสามัคคี เพื่อมากราบหลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร ขอให้ส่งศิษย์ที่สมควรไปช่วยเป็นประธานสร้างวัดกรรมฐานที่ จ.ลำปาง ซึ่งพวกเขาได้บริจาคที่ดินและหาปัจจัยมาช่วยกันสร้างเป็นวัดสำหรับพระในสายปฏิบัติขึ้นมาใหม่
หลวงปู่สิมท่านได้พิจารณาเห็นสมควรว่า หลวงปู่แว่นเป็นพระต้องไปทำหน้าที่นี้ เพราะเป็นงานของท่านโดยเฉพาะที่จะไปช่วยเผยแผ่พระพุทธศาสนา ณ พื้นที่ตรงนั้น จึงได้อนุญาตและมอบหมายภาระหน้าที่ในการนี้แก่หลวงปู่แว่น ตามเจตนาศรัทธาของชาวบ้าน คณะศรัทธาชาวบ้าน อ.เกาะคา ทั้งหลายจึงพากันยินดีเป็นอย่างมาก ได้นิมนต์หลวงปู่แว่นให้เดินทางมายัง อ.เกาะคา แล้วจัดการปลูกเพิงที่พักให้ชั่วคราว หลวงปู่แว่นเมื่อเดินทางไปถึงที่นั่น ก็พิจารณาเห็นว่าตรงตามนิมิตที่เคยปรากฏมาก่อน สถานที่แห่งนี้คงเป็นจุดสำคัญสำหรับท่านในการทำงานช่วยเผยแผ่พระธรรมตามหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะในสายทางปฏิบัติพระกรรมฐาน เพราะส่วนใหญ่แล้ว ณ ที่อื่นๆ ที่มีพระกรรมฐานไปเผยแผ่ เป็นผู้นำศรัทธาญาติโยมให้รู้จักการปฏิบัติภาวนา ก็มักจะได้รับการต่อต้านและเป็นที่ไม่พอใจของผู้ที่อยู่เดิม เพราะความไม่เข้าใจของพระและชาวบ้านที่เกรงกลัวและไม่รู้จัก พระกรรมฐานจึงมักถูกกลั่นแกล้งอยู่บ่อยๆ ต้องใช้ความอดทนและเวลาเพื่อที่จะเอาชนะจิตใจของบรรดาบุคคลเหล่านั้น จนกว่าจะเป็นที่ยอมรับของพระสงฆ์และชาวบ้านในท้องถิ่นเดิม เรื่องเช่นนี้มักมีเกิดขึ้นบ่อยและทั่วไป
ก่อนหน้านี้หลวงปู่แว่นท่านก็ได้เคยไปดูสถานที่หลายแห่งในหลายท้องที่หลายจังหวัด แต่ก็ไม่พบที่ถูกใจ บางแห่งถูกใจแต่ทางพระท้องถิ่นซึ่งส่วนใหญ่เป็นมหานิกายไม่ยอมรับ ได้พากันขับไล่ไม่ให้อยู่ หลวงปู่แว่นท่านจึงได้ตั้งสัจจะอธิษฐานขอให้เกิดนิมิตให้ได้รู้ว่า ที่ใดจะเป็นสถานที่ที่ท่านจะไปทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนา
นับว่าเป็นนิมิตที่ดีที่คณะศรัทธาชาวบ้าน อ.เกาะคา ส่วนใหญ่ รู้จักและเข้าใจในพระกรรมฐาน จนมีศรัทธาที่จะสร้างวัดสำหรับพระปฏิบัติสายวิปัสสนากรรมฐานให้ได้มีที่เจริญภาวนาและเป็นที่พึ่งของชาวบ้านญาติโยมสืบต่อไป รวมทั้ง โชคดีที่ได้มีผู้มีจิตศรัทธาแก่กล้าถวายที่ดินเพื่อสร้างวัด คือ อาจารย์ย้อย ผลไพโรจน์ ที่ทำงานเป็นผู้จัดการโรงงานน้ำตาลไทยในเกาะคา ได้ถวายที่ดินในเบื้องต้น ๒๐ ไร่ หลวงปู่แว่นท่านก็เห็นสมควรว่ามีพื้นที่พอที่จะสร้างขึ้นเป็นวัดได้ จึงได้ร่วมกับหลวงพ่อวงศ์ ช่วยกันสร้างขึ้นมาเป็นสำนักวัดป่า ในช่วงปลายปี พ.ศ. ๒๔๙๐ นั่นเอง และต่อมาคุณยายผูก รอนไพลิน ก็ได้ถวายที่ดินเพิ่มอีก ๕ ไร่ ทำให้พื้นที่ของวัดได้ขยายเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมอีกหลายเท่า ต่อมาก็มีโยมกิมเฮง วิศยางกูร ได้ถวายที่ดินเพิ่มเติมอีกจำนวน ๔ ไร่ และนายเพิ่ม ชูเชาว์ ได้ถวายเพิ่มเติมอีกจำนวนหนึ่ง ทำให้เหมาะเป็นวัดป่าสายวิปัสสนากรรมฐานอย่างยิ่ง
“วัดป่าเรไร” เป็นชื่อวัดชื่อแรกที่หลวงปู่แว่นได้ตั้งไว้ โดยได้เขียนป้ายติดไว้ที่ประตูทางเข้าเลย แต่ศรัทธาญาติโยมชาวบ้านส่วนมากจะเรียกว่า “วัดโรงน้ำตาล” หรือ “วัดแพะ” (แพะเป็นภาษาภาคเหนือแปลว่า ป่า)
พระประธานองค์แรกของวัดป่าเรไรชื่อ “หลวงพ่อพุทธภัยชัยราชศาสดา” โดยมีประวัติความเป็นมา คือ โยมกิมเฮง วิศยางกูร เดินทางด้วยเท้าจากตลาดเกาะคาไปพร้อมกับลูกสาว เพื่อไปกราบขอพระประธานจาก พระครูธรรมสุนทร ที่บ้านหนองหล่าย ต.เกาะคา อ.เกาะคา จ.ลำปาง เมื่อคราวที่ท่านกลับมาเยี่ยมบ้านเกิด แต่ที่จริงแล้วพระครูธรรมสุนทร เป็นพระอยู่ที่วัดบรมนิวาส กรุงเทพฯ โดยท่านบอกว่าที่วัดบรมนิวาส มีพระประธานอยู่องค์หนึ่ง แต่ท่านไม่ยอมไปไหน มีผู้มาขอหลายราย แต่อัญเชิญไปไม่ได้ เพราะจะเกิดอุปสรรคทุกครั้ง
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส)
หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม
หลวงปู่เทสก์ เทสฺรํสี
ถ้าทาง “วัดป่าเรไร” อยากได้ก็ไม่ขัดข้อง ดังนั้น หลวงปู่แว่นจึงได้ให้โยมกิมเฮงเดินทางไปกรุงเทพฯ และให้ตั้งจิตอธิฐานขอกับเทวดาอารักษ์ แล้วอัญเชิญกลับมาที่จังหวัดลำปาง พร้อมกันนั้นได้ประชุมกับคณะศรัทธาชาวบ้าน ขอเปลี่ยนชื่อวัดใหม่ โดยมี สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) วัดบรมนิวาส กรุงเทพฯ ได้มาเมตตาประทานนามวัดใหม่ว่า “วัดป่าสำราญนิวาส” พร้อมกันนั้นท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ก็ได้ตั้งชื่อพระประธานประจำวัดว่า “หลวงพ่อพุทธภัยชัยราชศาสดา” สิ่งที่น่าอัศจรรย์ก็คือการอัญเชิญพระประธานมาได้ตลอดรอดฝั่ง โดยปลอดภัยและสวัสดิภาพ โดยที่ไม่มีอุปสรรคใดๆ เลย โดยมาทางรถไฟ
ในกาลเวลาต่อมา ก็ได้มีเจ้าแม่บัวหอม อิศรางกูร ณ อยุธยา เป็นกำลังสำคัญในการรวบรวมปัจจัยจากศรัทธาที่ต่างๆ มาสร้างอุโบสถและเจดีย์ให้สำเร็จเรียบร้อยด้วยดี ตลอดทั้งยังมีญาติโยมที่เป็นกำลังสำคัญในการช่วยทำนุบำรุงให้วัดมีความเจริญรุ่งเรืองอีกหลายคน เช่น คุณแม่โค้ว พรมพันธ์ และคุณแม่แสง เป็นต้น
วัดป่าสำราญนิวาส เป็นวัดโดยสมบูรณ์เมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๓ และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๘ หลังจากนั้นจึงค่อยพัฒนารุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ โดยมีหลวงปู่หลวง กตปุญฺโญ เป็นประธานรับช่วงในการปกครองดูแลวัดสืบต่อมาจากหลวงปู่แว่น ธนปาโล
เมื่อวัดป่าสำราญนิวาสได้สำเร็จพอเป็นรูปร่างได้ใหม่ๆ นั้น ได้มีครูบาอาจารย์ในสายกรรมฐานที่มีปฏิปทาน่าเลื่อมใสมาพำนักอยู่เสมอ อาทิเช่น หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม, หลวงปู่เทสก์ เทสฺรํสี, หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร, หลวงปู่ชอบ ฐานสโม, หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ, หลวงปู่บุญจันทร์ จนฺทวโร และท่านพ่อลี ธมฺมธโร เป็นต้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านพ่อลี ธมฺมธโร จะมีความเกี่ยวข้องกับวัดป่าสำราญนิวาสมากพอสมควร เพราะระหว่างที่หลวงปู่แว่น ธนปาโล ท่านไปริเริ่มสร้างวัดถ้ำพระสบาย ในเขต อ.แม่ทะ จ.ลำปาง โดยมีหลวงปู่หลวงหรือพระภิกษุหลวง กตปุญโญ (ในขณะนั้น) ไปช่วยในการก่อสร้างด้วยนั้น ท่านพ่อลีก็มักจะเดินทางมาพักและมีส่วนร่วมในการก่อสร้างวัดถ้ำพระสบายในช่วงแรกๆ ด้วย ท่านพ่อลีได้แวะเวียนมาเทศน์โปรดชาวเกาะคาเสมอ จนเป็นที่เคารพรักและรู้จักกันของคณะศรัทธาชาวบ้านเกาะคาทุกคน
๏ เหตุแห่งนิมิต
หลวงปู่แว่น ธนปาโล ได้พักจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าสำราญนิวาส ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ เป็นต้นมา ได้นำพาชาวบ้านและศรัทธาทั้งใกล้ไกลช่วยกันสร้างและพัฒนาสำนักวัดป่าจนเป็นวัดโดยสมบูรณ์ จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๙๖ รวมเป็นเวลา ๖ พรรษา ก็พอดีทางโยมมารดาของท่านได้ขอร้องให้หลวงปู่แว่นกลับไปจำพรรษาที่บ้านเกิด คือ ใน จ.สกลนคร ซึ่งตรงกับนิมิตที่ท่านได้ทราบล่วงหน้าว่า จะมีญาติโยมทางเมืองสกลนครมานิมนต์ให้ท่านกลับไป ท่านจึงได้ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าสุทธาวาส อ.เมือง จ.สกลนคร ซึ่งพอดีตำแหน่งเจ้าอาวาสได้ว่างลง
ในช่วงที่หลวงปู่แว่นจำพรรษาที่วัดป่าสำราญนิวาสนี้เอง ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๙๐ ท่านได้นิมิตฝันบ่อยครั้งว่า ได้ไปเที่ยวจนถึงดอยแห่งหนึ่งในกลางป่า หนทางที่ไปก็ต้องข้ามน้ำไป แล้วเดินขึ้นดอยไป พอถึงดอยก็ได้พบว่ามีถ้ำอยู่หลายแห่ง ทั้งถ้ำเล็กและถ้ำใหญ่ ดอยแห่งนี้ท่านได้ไปเห็นในนิมิตอยู่หลายครั้ง บางคืนก็ฝันว่า ได้เหาะลอยไปจนถึงดอยนั้น โดยห่มผ้าจีวรติดตัวไปหลายผืน พอไปถึงดอยนั้นและลอยลงเดินยังพื้นดิน ก็ได้มีพระเณรหลายองค์มาขอเปลื้องสบง จีวร และสังฆาฏิ จากตัวท่านไปจนหมด ทั้งในบริเวณนั้นยังมีคนหนุ่มสาวพากันเดินไปเป็นหมู่ๆ ท่านก็ได้แต่สงสัยในนิมิตว่า คงจะมีความหมายอะไรสักอย่าง
ระหว่างที่กำลังสร้างวัดป่าสำราญนิวาสยังไม่เสร็จนั้น บางคราวญาติโยมศรัทธาทางเชียงใหม่ ก็ได้นิมนต์ให้หลวงปู่แว่นไปโปรดพวกเขาบ้าง เพราะยังมีความเคารพและศรัทธในตัวท่านเสมอ หลวงปู่แว่นจึงต้องเดินทางไปพักค้างยังเมืองเชียงใหม่เป็นครั้งคราว โดยไปพักที่วัดเจดีย์หลวงบ้างหรือไม่ก็วัดป่าโรงธรรมสามัคคี
คืนวันหนึ่ง ขณะที่หลวงปู่สิมและหลวงปู่แว่นท่านพากันนั่งสมาธิปฏิบัติธรรมตามปกติ ทั้งสององค์ก็ได้พบกับดวงจิตวิญญาณของเจ้าแม่ทิพย์วรรณ ณ เชียงตุง (ซึ่งเคยเป็นโยมอุปัฏฐากที่เชียงใหม่ แต่ได้สิ้นบุญเสียชีวิตไปก่อนหน้านั้นเล็กน้อย) ได้มายืนร้องเรียกขออาราธนาอยู่ตรงลานหน้าพระเจดีย์ในเขตวัดเจดีย์หลวง ว่า “ดิฉันต้องการพระที่นุ่งผ้าดำนะ พระที่นุ่งผ้าเหลืองไม่เอา ขอให้ช่วยไปโปรดที่ถ้ำแกเก๊าด้วย” ตามความหมายก็คือ วิญญาณเจ้าแม่ต้องการนิมนต์ให้พระกรรมฐานไปโปรดพวกเขาที่ถ้ำแกเก๊าหรือถ้ำพระสบายในปัจจุบัน แต่ไม่ต้องการพระมหานิกายซึ่งนุ่งห่มสีเหลือง (ตอนนั้นหลวงปู่แว่นท่านนุ่งหุ่มผ้าสีกรักแก่ออกดำ)
หลวงปู่แว่นจึงได้กราบเรียนปรึกษากับหลวงปู่สิม ซึ่งหลวงปู่สิมท่านก็รับรองเรื่องนิมิตนั้นโดยบอกว่า “ดีละ นิมนต์เถอะ” เพราะท่านก็ได้นิมิตอย่างเดียวกัน หลวงปู่แว่นท่านก็ไม่รอช้ารีบลุกขึ้นไปประกาศที่กลางลานในทันทีว่า “นี่เจ้าแม่ วันที่ ๑๔ ให้ไปรับพระที่วัดสันติธรรมเน้อ” พอประกาศเสร็จท่านก็กลับไปนั่งภาวนาต่อ
ก่อนถึงวันนัด หลวงปู่แว่นได้กลับไปพักอยู่ที่วัดป่าโรงธรรมสามัคคี อ.สันกำแพง พวกคณะศรัทธาชาวบ้าน อ.สันกำแพง พอได้รู้เรื่องขึ้นว่าหลวงปู่แว่นจะไม่อยู่ อ.สันกำแพงแล้ว โดยจะย้ายไปอยู่ที่ถ้ำแกเก๊า บ้านแม่หนองหาร อ.แม่ทะ จ.ลำปาง ก็เกิดความรู้สึกไม่อยากให้ท่านไป ทั้งที่ตอนนั้นหลวงปู่แว่นท่านมีภาระในเรื่องการสร้างวัดป่าสำราญนิวาส ที่ อ.เกาะคา จ.ลำปาง อยู่แล้ว แต่ด้วยความที่ไม่อยากให้ท่านละจากไป รถทุกคันใน อ.สันกำแพง ทั้งรถเล็กรถใหญ่ และแม้กระทั่งรถเครื่องหรือรถจักรยานยนต์ จึงถูกสั่งห้ามไม่ให้ไปรับและไปส่งหลวงปู่แว่นเป็นอันขาด ด้วยจะไม่ยอมให้ท่านไปจาก อ.สันกำแพง
แต่แล้วอาจจะเป็นเพราะแรงสัจจะอธิษฐานของหลวงปู่แว่น ที่ได้ตั้งใจไว้แล้วประการหนึ่ง และแรงบุญวาสนาของเจ้าแม่ทิพย์วรรณอีกประการหนึ่ง ทำให้หลวงปู่แว่นได้เดินทางไป จ.ลำปาง ในวันนั้นจนได้ กล่าวคือในตอนสายวันนี้ เจ้าชื่นทิพย์ซึ่งอยู่ในตัวเมืองเชียงใหม่ ได้ขับรถไปกราบมนัสการหลวงปู่แว่นที่วัด ตั้งใจว่าจะรับท่านไปบ้านฝรั่งที่เป็นเพื่อนกันในเมืองเชียงใหม่ พอไปถึงหลวงปู่แว่นท่านก็รู้ในทันทีว่านี่คงเป็นคนที่เจ้าแม่ส่งมานั่นเอง เพราะก่อนหน้านี้หนึ่งวัน ท่านได้ประกาศไว้แล้วว่า “พรุ่งนี้ถ้าใครมาก่อนก็รับตัวไปได้ก่อน” ท่านจะไปกับคนนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้หลวงปู่แว่นก็เลยขึ้นรถเจ้าชื่นทิพย์ออกจากวัดไป โดยท่านขอให้ช่วยไปส่งท่านที่ จ.ลำปาง ด้วย
พระอาจารย์ผั่น ปาเรสโก
หลวงปู่ชอบ ฐานสโม
๏ สำรวจถ้ำแกเก๊า
เมื่อหลวงปู่แว่นเดินทางมาถึง จ.ลำปาง ท่านก็ได้กลับไปดูแลและพักจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าสำราญนิวาสอีกระยะหนึ่ง ครั้นพอออกพรรษาแล้ว พวกคณะศรัทธาชาวบ้านนาคต อ.แม่ทะ จ.ลำปาง ก็ได้มานิมนต์ให้หลวงปู่แว่นไปรับกฐิน เมื่อเสร็จธุระจากงานกฐินแล้ว ท่านก็ได้เดินทางมากับ พระอาจารย์ผั่น ปาเรสโก มาพักในป่าที่ใกล้บ้านนาตม ตกกลางคืน ก็ได้มีชาวบ้านมาขอฟังธรรม และฝึกนั่งสมาธิภาวนากับท่านเป็นจำนวนมากในแต่ละคืน หลวงปู่แว่นได้ปรารภกับชาวบ้านถึงเรื่องถ้ำต่างๆ บนดอยแถวนี้ ซึ่งก็ได้ทราบว่านอกจากจะมีถ้ำแกเก๊าอันเป็นถ้ำใหญ่แล้ว ก็ยังมีถ้ำใหญ่น้อยอื่นๆ อีกหลายถ้ำ จึงขอให้ชาวบ้านที่รู้จักทางพาไปดู
ก็ได้พ่อคำน้อย, พ่อหนานกันทะ, พ่อน้อยจู, กำนันมูล และชาวบ้านติดตามอีกหลายคน ช่วยนำทางพาท่านไปสำรวจดอยแห่งนั้น หลวงปู่แว่นท่านได้สำรวจสถานที่โดยรอบ ได้พบว่ามีถ้ำต่างๆ อยู่หลายถ้ำ ทั้งยังเหมาะแก่การภาวนาอีกด้วยเพราะมีความสงัดวิเวกดี จึงได้พิจารณาที่จะปรับปรุงขึ้นเป็นที่พักสงฆ์ ซึ่งสถานที่ตั้งก็ไม่อยู่ห่างไกลจากหมู่บ้านรอบๆ นัก คือประมาณ ๓ กิโลเมตรเศษ พอที่จะเดินบิณฑบาตหาศรัทธาหน้าบุญตามหมู่บ้านที่อยู่ใกล้ๆ ได้ เช่น หมู่บ้านเหล่านาตม บ้านฮ่อม บ้านหนองถ้อย คณะศรัทธาผู้ติดตามจึงได้ช่วยกันตระเตรียมสร้างที่พักขึ้นอย่างง่ายๆ พออาศัยค้างคืนได้ วันนั้นจึงเป็นวันแรกที่หลวงปู่แว่นได้มาพำนักที่ถ้ำแห่งนี้ ตรงกับวันพุธที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๑ ขึ้น ๑ ค่ำ เดือนเกี๋ยงเหนือ ๑ ใต้ ปีชวด ณ ถ้ำแม่ชุม เป็นแห่งแรก
ในคืนต่อๆ มาก็ได้เปลี่ยนมาพักที่ถ้ำแกเก๊าเป็นส่วนใหญ่ จนได้ติดป้ายชื่อที่หน้าถ้ำว่า “ถ้ำสบาย” ระหว่างที่กำลังปรับปรุงถ้ำแห่งนี้ หลวงปู่แว่นก็ต้องกลับมาดูแลวัดป่าสำราญนิวาสด้วย จึงต้องเดินทางไปๆ มาๆ ระหว่างสถานที่ทั้งสองอยู่บ่อยๆ หนทางไป-มา ก็ยังไม่สะดวกต้องเดินทางด้วยเท้าเป็นระยะทางกว่า ๒๐ กิโลเมตร ในครั้งนั้นพระภิกษุหลวง กตปุญฺโญ ก็ได้ไปอยู่ช่วยปรับปรุงสร้างที่พักสงฆ์ด้วย ได้อยู่ช่วยงานอย่างเต็มกำลัง
ระยะแรกที่ไปอยู่นั้น ทั้งพระเณรต้องทนลำบากมาก ทั้งปัญหาเรื่องน้ำที่ขาดแคลน ต้องหาบน้ำเดินขึ้นเขาด้วยระยะทางกว่า ๓ กิโลเมตร ในบางครั้งก็ต้องต่อสู้กับพวกเจ้าที่ เจ้าทาง เจ้าถ้ำ อันเป็นพวกเทพเทวาอารักษ์ที่อยู่เฝ้ารักษา พวกเขาเข้าใจว่าหลวงปู่แว่นท่านจะไปเปิดเอาขุมสมบัติที่พวกเขาเฝ้ารักษา เพราะหลวงปู่แว่นท่านไปอยู่ทีแรก ก็ไม่ได้บอกกล่าวให้พวกเขารับรู้ เขาจึงหวงแหนในสมบัติอันเป็นพวกของโบราณวัตถุที่มีค่า จนในที่สุดหลวงปู่แว่นและคณะต้องทำการแผ่เมตตาให้ และบอกกล่าวว่า ท่านจะมาตกแต่งถ้ำเพื่อสร้างที่บำเพ็ญสมณธรรม เรื่องทั้งหลายจึงค่อยสงบลงได้
ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๑ หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร ได้เดินทางจากวัดสันติธรรม เพื่อมาเยี่ยมหลวงปู่แว่นที่ถ้ำสบาย พอเจอหน้ากันหลวงปู่ท่านก็ยิ้มและทักขึ้นว่า “ยังไงปักธงหลอกใครละ” พูดพลางท่านก็หันไปมองป้ายชื่อถ้ำแล้วหัวเราะ จากนั้นก็หันมาถามหลวงปู่แว่นว่า “ที่ว่าสบายนะ ใครสบาย” หลวงปู่แว่นท่านก็หัวเราะอย่างรู้ที แล้วตอบไปว่า “ก็พระนะสิสบาย” หลวงปู่สิมท่านก็ว่า “พระสบายก็บอกว่าพระสบายซี” ดังนั้นเองหลวงปู่แว่นท่านจึงได้เปลี่ยนชื่อถ้ำเสียใหม่ว่า “ถ้ำพระสบาย” ตั้งแต่นั้นมา
แต่ในเรื่องชื่อถ้ำนี้ หลวงปู่หลวงท่านได้เล่าให้ฟังอย่างขันๆ ในภายหลังว่า น่าจะชื่อ “ถ้ำพระจะตาย” ละไม่ว่า เพราะความเป็นอยู่ในช่วงแรกๆ นั้นค่อนข้างลำบากมาก ทั้งพระ ทั้งเณร เพราะเรื่องน้ำกินน้ำใช้ที่ขาดแคลน น้ำที่จะสรงก็ไม่พอเพียง เนื่องจากที่ตั้งอยู่บนดอย ต้องหาบน้ำจากตีนดอยขึ้นมาใช้ตั้งไกล จากแม่น้ำจางซึ่งอยูห่างวัดไปเกือบ ๓ กิโลเมตร โดยพากระบอกไม้ไผ่ขนาดใหญ่ไปแล้วตักน้ำใส่จนเต็ม จากนั้นก็ต้องพากันหาบกลับถ้ำ บางคราวในหน้าฝน ขณะที่กำลังทำวัตรสวดมนต์กันอยู่ ฝนเกิดตกลงมาก็ต้องพากันพักสวดมนต์ชั่วขณะ แล้วพากันวิ่งไปช่วยกันรองน้ำฝนไว้ใช้ และสรงน้ำกันเสร็จแล้วจึงมานั่งทำวัตรต่อ ชุลมุนไปหมด
หนทางจากดอยมาบิณฑบาตที่หมู่บ้าน ก็ขรุขระเพราะเป็นทางควายเดิน คนก็ต้องใช้เดินด้วย ในหน้าฝนทางทั้งลื่นและแฉะเป็นร่องหลุม เพราะรอยตีนควาย เดินลำบากยากเย็นเอามากๆ มักจะเดินตกหลุมควายของชาวบ้านกันแทบทุกวัน จนแข้งขาเลอะเปรอะเปื้อนด้วยขี้โคลน ทั้งสบงจีวรก็เลอะด้วย ต้องกลับมาซักที่หน้าถ้ำทุกวัน “มันลำบากก็รู้อยู่ ทุกข์ก็รู้อยู่ แต่เราเป็นพระเป็นนักบวชที่หวังในสติปัญญาธรรม เราต้องทนได้เสมอ เป็นผู้ปฏิบัติต้องเอาดีให้ได้ ไม่มีการท้อถอย ถ้าท้อถอยไม่อดทนกับความทุกข์ ก็ไม่เห็นทุกข์ที่แท้จริง เสียเวลาบวชก็ตายเปล่า เกิดมาเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์” หลวงปู่หลวงท่านว่าอย่างนั้น
ที่ถ้ำพระสบายนี้ ต่อมาได้กลายเป็นสถานที่สำคัญ ซึ่งมักจะมีพ่อแม่ครูบาอาจารย์ในสายพระป่ากรรมฐาน ซึ่งเป็นศิษยานุศิษย์ของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ ผลัดกันมาแวะเวียนมาพำนักปฏิบัติธรรม ปรารภความเพียรกันอยู่บ่อยๆ หลายต่อหลายองค์ด้วยกัน ด้วยเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ภาวนาดี บางรูปอย่าง หลวงปู่ชอบ ฐานสโม ท่านยังได้เคยมาจำพรรษาอยู่ที่นี่ในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ เป็นต้น
หลวงปู่แว่นได้อยู่จำพรรษาที่ถ้ำพระสบายได้ ๖ พรรษาก็มีความจำเป็นต้องกลับไปเป็นเจ้าอาวาสที่บ้านเกิด คือเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าสุทธาวาส จ.สกลนคร ได้อีก ๖ พรรษา แล้วจึงได้กลับมาจำพรรษาที่วัดถ้ำพระสบายอีกในปี พ.ศ. ๒๕๐๓ เมื่ออายุท่านได้ ๕๐ ปี พรรษาที่ ๓๐ พอดี
พอออกพรรษาท่านก็ได้รับนิมนต์จากศรัทธาชาวบ้านทาง จ.สกลนคร ให้กลับไปรับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดป่าสุทธาวาสอีกครั้งและเป็นเจ้าคณะอำเภอด้วย จำพรรษาอยู่ที่ จ.สกลนคร อีก ๗ พรรษา พอถึงปี พ.ศ. ๒๕๑๘ พรรษาที่ ๔๕ หลวงปู่แว่นท่านก็ได้กลับมาจำพรรษาที่วัดถ้ำพระสบายอีกวาระหนึ่งในช่วงปัจฉิมวัย และพักอยูที่นั่นตลอดมาจนกาลเวลาสุดท้ายแห่งชีวิต ผลงานสุดท้ายที่ท่านได้ฝากไว้ก็คือ ได้แก้ไขปัญหาเรื่องน้ำโดยการขุดเจาะน้ำบาดาลสองแห่ง สร้างกุฏิและเสนาสนะขึ้นใหม่จนพอเพียง สร้างอุโบสถหลังใหญ่ที่มีหลังคาราบรูปทรงแปลกตา เบื้องบนมีเจดีย์เก้ายอดดูเป็นศรีสง่า ที่คงค้างอยู่ก็มีกุฏิของท่านเองหลังใหม่ใหญ่กว่าเดิมสูง ๓ ชั้น เพื่อรองรับอาคันตุกะและคณะญาติโยมได้มาพัก แต่ยังมิทันสร้างเสร็จท่านก็มาละสังขารไปเสียก่อน
วัดถ้ำพระสบาย ได้รับการยกฐานะขึ้นให้เป็นวัดอย่างถูกต้องสมบูรณ์ เมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๗ โดยมี หลวงปู่หลวง กตปุญฺโญ รับภาระเป็นประธานสงฆ์คอยดูแลแทน
วัดถ้ำพระสบาย ต.นาครัว อ.แม่ทะ จ.ลำปาง
รูปหล่อเหมือนในท่ายืนหลวงปู่แว่น ธนปาโล ณ วัดถ้ำพระสบาย
ท่านพ่อลี ธมฺมธโร
ท่านพ่อคล้าย วาจาสิทธิ์ วัดพระธาตุน้อย (วัดจันดี) จ.นครศรีธรรมราช
๏ ท่านพ่อลี ธมฺมธโร
ในสมัยที่เพิ่งเริ่มสร้างวัดถ้ำพระสบาย จ.ลำปาง ขึ้นใหม่ๆ ท่านพ่อลี ธมฺมธโร ศิษย์รุ่นใหญ่สำคัญองค์หนึ่งของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทฺตตเถระ จากวัดอโศการาม ต.ท้ายบ้าน อ.เมือง จ.สมุทรปราการ (ชาวบ้านนิยมเรียกท่านว่า ท่านพ่อลี จนติดปาก ทั้งนี้เนื่องจากระยะหนึ่งในราวปี พ.ศ. ๒๔๙๕ ขณะนั้นท่านอายุได้ประมาณ ๔๖ ปี ๒๕ พรรษา ได้ธุดงค์ล่องใต้ไปเผยแผ่ธรรมในหลายจังหวัด จนเป็นที่รู้จักกันดีและเป็นที่เคารพนับถือของคณะศรัทธาชาวบ้านคนใต้เป็นจำนวนมาก คนทางใต้นั้นนิยมเรียกพระที่พวกเขาเคารพนับถือว่า ท่านพ่อ อย่างเช่น ท่านพ่อคล้าย วาจาสิทธิ์ วัดพระธาตุน้อย (วัดจันดี) อ.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช เป็นต้น)
ท่านพ่อลีก็ได้แวะเวียนมาพักอยู่บ่อยๆ แต่ไม่เคยจำพรรษาที่นี่ ท่านได้สร้างกฏิของท่านเองไว้ที่ปากถ้ำบนกลางดอย มองเห็นได้แต่ไกล ท่านพ่อลีชอบไปพักปฏิบัติภาวนาที่นั่นมาก เพราะอากาศปลอดโปร่งเย็นสบายดี ทั้งยังได้ร่วมสร้างศาลาการเปรียญหลังใหญ่ทำด้วยไม้ ไว้ที่ลานด้านล่างคู่กับหอระฆัง กับวิหารสุทธิธรรมรังษี ไว้หน้าปากถ้ำเพื่อไว้สำหรับใช้จัดงานบุญสำคัญอีกด้วย
ภายในถ้ำใหญ่ซึ่งมีค้างคาวเยอะ วันหนึ่งท่านพ่อลีได้ไปนั่งสมาธิภาวนาอยู่ภายในถ้ำ ได้เกิดปรากฏการณ์ที่ทำให้ท่านต้องยอมรับในเรื่องของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ กล่าวคือ ในขณะที่ท่านกำลังนั่งสมาธิภาวนาอยู่ ได้เกิดมีพระบรมสารีริกธาตุเสด็จมาปรากฏอยู่รอบๆ ตัวท่านเป็นจำนวนมาก จนเป็นที่น่าอัศจรรย์ใจ ท่านพ่อลีจึงได้พิจารณาสร้างเจดีย์ปูนปั้นขนาดสูงราว ๖ วา เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุเหล่านั้น และของมีค่าเพื่อบูชาพระธาตุไว้ภายใน เพราะในถ้ำแห่งนี้เป็นถ้ำศักดิ์สิทธิ์ เคยมีพระธุดงคกรรมฐานมาปฏิบัติธรรมจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์มาก่อน ท่านจึงได้ทำการบูรณะถ้ำ ตลอดจนสร้างพระพุทธรูปและเจดีย์ ไว้เพื่อเป็นที่สักการะ
จึงถือว่าท่านพ่อลีมีความเกี่ยวข้องกับสถานที่ทั้งสองแห่ง ทั้งมีส่วนร่วมสร้างร่วมพัฒนาบูรณะสถานที่ คือทั้งที่วัดป่าสำราญนิวาสและที่วัดถ้ำพระสบาย
๏ เปรตวัดป่า
ตั้งแต่ที่มีพระสงฆ์ในสายวิปัสสนากรรมฐานมาพักปฏิบัติ ทั้งที่วัดป่าสำราญนิวาสและที่วัดถ้ำพระสบาย พวกเทพเทวดาเขาพากันโมทนายินดีชื่นชอบ ที่มีพระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบมาอยู่ เพราะพวกเขาได้รับกระแสเย็นแห่งความเมตตาที่พวกท่านเหล่านั้นได้อุทิศแผ่ให้เป็นประจำ ทั้งยังได้ฟังธรรมจากพระอริยเจ้าอีกด้วย แม้แต่พวกวิญญาณสัมภเวสีและเปรตต่างๆ ทั้งหลวงปู่สิม หลวงปู่แว่น ท่านพ่อลี และหลวงปู่หลวงก็ได้ช่วยโปรด โดยการทำบุญอุทิศส่วนกุศลและแผ่เมตตาให้ จนสามารถปลดปล่อยพวกนั้นไปได้มาก
คราวหนึ่ง หลวงปู่หลวงได้กลับจากการเดินธุดงค์ทางภาคเหนือ โดยได้แยกทางจาก หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ซึ่งแยกไปพักจำพรรษาอยู่ที่ วัดป่าสามัคคีธรรม ต.สันมหาพน อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ (ปัจจุบันคือ วัดป่าอาจารย์ตื้อ) ท่านกลับมาพร้อมกับ พระอาจารย์น้อย สุภโร เพื่อมาช่วยหลวงปู่แว่นสร้างวัดป่าสำราญนิวาส โดยได้ไปพักปักกลดอยู่ในป่าช้าห่างกันพอประมาณ พอตกค่ำเมื่อได้ทำวัตรสวดมนต์กันแล้ว ต่างคนก็ต่างเข้าที่ภาวนาอยู่แต่ในกลดของตน ครั้นตกดึกก็ได้ออกจากกลดเพื่อมาเดินจงกรมเปลี่ยนอิริยาบถ
คืนนั้น เมื่องหลวงปู่หลวงเดินจงกรมเสร็จแล้ว ก็จะเดินกลับเข้าพักในกลด ได้เหลือบมองไปยังกลดของหลวงปู่แว่นซึ่งปักกลดอยู่ในป่าช้าเช่นกัน ก็ได้เห็นแสงสว่างเรืองรองเรียงรายอยู่โดยรอบกลดของหลวงปู่แว่น มองดูคล้ายกับว่ามีคนจำนวนมากมาจุดตะเกียงคนละดวง นั่งรายล้อมเพื่อฟังธรรมอยู่ในขณะนั้น แต่พอมองดูดีๆ ก็ไม่เห็นเป็นรูปเป็นร่างคน ก็คิดจะเดินไปดูใกล้ๆ ด้วยสงสัยว่าชาวบ้านพากันมาทำอะไรกันดึกๆ หรือจะมาฟังธรรมก็ไม่ใช่เวลาที่ควร พอท่านก้าวเดินเข้าไปได้หน่อย แต่แล้วก็ต้องชะงักหยุดอยู่กับที่ ด้วยเห็นว่าหลวงปู่แว่นท่านกำลังนั่งสมาธิสงบเป็นสง่าอยู่ท่ามกลางดวงไฟแสงเรืองๆ ที่สว่างอยู่รายรอบ แต่มองไม่เห็นใคร ท่านก็รู้ได้ทันทีว่า หลวงปู่แว่นท่านกำลังแสดงธรรมโปรดพวกเทพยดาโดยทางสมาธิจิตอยู่นั่นเอง ท่านจึงไม่กล้าเข้าไปรบกวนด้วยกลัวว่าจะทำลายสมาธิการฟังธรรมของพวกเทพยดาเหล่านั้นนั่นเอง
อีกพวกหนึ่ง ซึ่งมักจะมาปรากฏหรือแสดงให้รับรู้ว่าพวกเขาต้องการการช่วยเหลือ ก็คือ พวกสัมภเวสีต่างๆ หลวงปู่หลวงท่านว่า ครั้งแรกๆ ที่มาอยู่วัดป่าสำราญนิวาส จะมีพวกวิญญาณมาขอส่วนบุญเยอะ โดยเฉพาะพวกเปรต ท่านได้โปรดช่วยไปเยอะ หลวงปู่หลวงท่านว่า “ภาคเหนือเปรตหลายที่สุด” ปัจจุบันคงมีอยู่ไม่มาก พวกเปรตพวกสัมภเวสีต่างๆ ที่พ้นทุกข์หลุดจากภพภูมิที่เคยเป็นอยู่ ได้ไปเกิดตามกำลังบุญของตนก็มีมาก แต่ก็ได้มีพวกใหม่มาทดแทน เพราะรู้ว่าหลวงปู่หลวงสามารถช่วยพวกเขาได้
ที่ถ้ำพระสบายก็มีพวกเทพยดามาก แม้แต่พวกที่มีความเป็นอยู่ในโลกทิพย์ เช่น พวกลับแล บังบด ยักษ์และนาค ก็มีที่อยู่เป็นแดนเป็นสัดส่วนไป ล้วนแต่เป็นพวกสัมมาทิฐิไม่ทำร้ายผู้ใด ใครที่มีสัมผัสพิเศษหรือได้ญาณทิพย์ก็จะรับรู้และเห็นพวกนี้ได้ บางครั้งพวกเขายังแอบแฝงมาทำบุญปะปนกับชาวบ้านก็มี
ซึ่งแตกต่างจากช่วงแรกๆ ที่หลวงปู่แว่น ธนปาโล ท่านไปริเริ่มสร้างวัดที่นั่น ตอนนั้นพวกเขาคิดว่าท่านจะมาเอาสมบัติ จึงหวงแหนและทำการขัดขวางแกล้งทำให้กลัว แต่เมื่อท่านได้ทำการแผ่เมตตาและเจรจาบอกกล่าวให้เข้าใจ พวกเขาจึงยอมและไม่เคยเกิดเรื่องราวใดๆ ขึ้นอีกเลย มีแต่จะขออนุโมทนายินดีรับส่วนบุญ เพราะกระแสแห่งเมตตาธรรมของพระที่ปฏิบัติกรรมฐานที่อุทิศแผ่ไปให้
อุโบสถและเจดีย์ วัดป่าอาจารย์ตื้อ (วัดป่าสามัคคีธรรม)
ต.สันมหาพน อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่
๏ ชดใช้กรรม
งานพัฒนาวัดถ้ำพระสบาย พระภิกษุหลวง กตปุญฺโญ (ในขณะนั้น) ได้ช่วยทำอย่างเต็มกำลังดังได้กล่าวมาแล้ว ตั้งแต่งานทำกุฏิพระ ทำทางขึ้นถ้ำและสร้างเสนาสนะอื่นๆ ในสมัยก่อนยังไม่มีเครื่องมือ เครื่องใช้ทันสมัยอย่างเดี๋ยวนี้ ต้องใช้เครื่องมือและเครื่องทุ่นแรงเท่าที่จะหาได้ ใช้ค้อนปอนด์ทุบก้อนหินให้แตกบ้าง บางงานก็ต้องใช้ชะแลงงัดก้อนหิน ต้องใช้กำลังแรงของพระเณรที่มีอยู่ทุกรูปช่วยกันทำงาน แรงงานชาวบ้านญาติโยมก็มีมาช่วยบ้างไม่กี่คน เพราะต่างต้องทำมาหากินทำงานเลี้ยงชีพตนเอง ทางวัดก็ไม่มีเงินจะไปจ้างเป็นค่าแรงงานเขา งานส่วนใหญ่จึงต้องทำกันเอง ใครไม่เป็นงานก็ได้เป็นได้ทำกันคราวนี้
ครั้งหนึ่ง ขณะที่หลวงปู่หลวงกำลังช่วยพระเณรใช้ชะแลงงัดก้อนหินก้อนใหญ่อยู่นั้น ก้อนหินเจ้ากรรมเกิดแตกออก ทำให้ชะแลงดีดตีเข้าที่หน้าอกของท่าน ทำเอาท่านเจ็บปวดเป็นอย่างมากที่หน้าอกรู้สึกแน่น และอึดอัดหน้าอกจนในที่สุดได้อาเจียนออกมาเป็นเลือด และมีไข้ขึ้น ท่านเล่าว่าได้รู้สึกเจ็บที่หน้าอกอยู่ถึง ๓ ปี ทรมานมาก ไข้เดี๋ยวขึ้นเดี๋ยวลง จับไข้ไม่แน่นอน ไม่เป็นเวลา เนื่องจากต้องเดินบิณฑบาตลงดอยมา ไข้ก็ขึ้นจนหมดแรงแทบจะเดินไม่ไหว บางขณะหลังฉันภัตตาหาร ก็เกิดมีไข้ขึ้นจนรู้สึกไม่อยากฉันอะไร
อยู่มาวันหนึ่งเพราะมีอาการดั่งเช่นที่ว่านี้ หลวงปู่หลวงรู้สึกเบื่อหน่ายในร่างกาย ที่ต้องทนทุกขเวทนาอยู่เป็นประจำ จึงคิดที่จะทำลายชีวิตตนเองโดยการโดดลงเหวลงหน้าผาให้ตายไปเลย จะได้ไม่ต้องทนอยู่รับกรรมทนทุกข์ทรมานทรกรรมต่อไป เพียงแต่ท่านคิดดำริอยู่ในใจ พลันก็ได้ยินเสียงผู้ใดก็ไม่รู้ ท่านว่าคงเป็นเทวดาที่มากระซิบบอกที่ข้างหูว่า “โอ้ ฆ่าตัวตายนี่ตกนรก ๕๐๐ ชาติ เน้อ” หลวงปู่หลวงพอได้ยินเสียงนั้นท่านก็มีสติระลึกได้ เกิดความรู้สึกนึกถึงบาป บุญ คุณ โทษ มีความละอายและเกรงกลัวต่อบาปขึ้นมาทันที
ท่านได้มาคิดทบทวนพิจารณาถึงผลของอกุศลกรรมและกุศลกรรม ที่คนเรากระทำอยู่ทุกวัน ตามปกติหากเป็นคนธรรมดาย่อมเกิดมีทั้งกุศลและอกุศลคละเคล้ากันไป กรรมต่างๆ นั้น ย่อมให้ผลและส่งผลได้ จะช้าหรือเร็วก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ อย่าง ซึ่งล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นจากการกระทำของตัวเราเอง
กว่าเราจะเกิดมาเป็นคนนั้นยากแสนยาก ไม่ใช่ง่าย ยิ่งเกิดมาแล้วได้พบพระพุทธศาสนา ได้พบพระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบหรือพระสุปฏิปันโนนั้นก็ยาก ครูบาอาจารย์ที่ดีเราก็ได้พบแล้ว เราเองได้บวชได้เรียนมาแล้ว ย่อมน่าจะรู้ถึงเรื่องกฎแห่งกรรมดีกว่าชาวบ้าน ตัวเราเคยให้คำอบรมสอนสั่งและชี้แนะให้ศรัทธาชาวบ้านเขาทำแต่ความดี รู้จักรักษาศีลและภาวนา แล้วเรามาทำผิดเสียเอง ทำลายศีลโดยการฆ่าตัวตาย แถมยังไม่รู้จักภาวนาให้พ้นทุกข์ ซึ่งเกิดขึ้นกับสังขารร่างกายของเราเอง ก็เหมือนกับตัวเรานั้นไม่รู้จริง แล้วจะสอนใครคนอื่นได้อย่างไร
ท่านพิจารณาเห็นว่า ร่างกายตัวเรานั้นมันก็เป็นก้อนทุกข์อันหนึ่ง ถ้าไม่เห็นทุกข์อันเกิดในกายในใจเราเอง พระท่านว่าไม่เห็นธรรม ไม่เห็นโทษของการเกิด การแก่ การเจ็บ และการตาย นี่เราเห็นทุกข์ของสังขารอย่างชัดแจ้งอย่างนี้แล้วนี่ มันเป็นทุกข์อย่างนี้ๆ
การฆ่าตัวตายใช่ว่าจะเป็นหนทางที่จะหนีพ้นจากทุกข์โดยสิ้นเชิงได้ เป็นการหนีเพียงชั่วคราวแล้วก็ต้องกลับมาชดใช้หนี้เวรหนี้กรรมอีก ถ้าไม่ใช่ในนรกก็ทั้งสภาพที่เป็นคนหรืออาจในรูปของสัตว์เดรัชฉานก็ได้ กรรมมันติดตามได้ทุกขณะ ทุกหนทุกแห่ง เราทำกรรมอันใดไว้ ก็ต้องรับผลแห่งกรรมนั้นๆ จะช้าหรือเร็วเท่านั้น กว่าเราจะสร้างสมบารมีมาได้จนมีโอกาสได้บวชในพระพุทธศาสนา ก็ต้องทำกุศลคุณงามความดีมาไม่รู้ว่ากี่ภพกี่ชาติ ต้องทำเรื่อยมา แล้วเราจะมาทำลายชีวิตตนเองโดยที่เรายังไม่ทันได้เห็นธรรมหรือบรรลุธรรมที่แท้จริง มิเสียเวลาเสียโอกาสเปล่าหรือ เกิดมาได้บวชเรียนแล้วเสียชาติเกิดเป็นแน่แท้ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย
เมื่อมีสติคิดได้ดังเช่นนี้ ตั้งแต่นั้นมาหลวงปู่หลวง กตปุญฺโญ ก็ไม่เคยคิดสั้นทำลายชีวิตตนเองอีกเลย กลับมีความอดทน เข้มแข็งต่อเวทนาหรือทุกข์ที่มันเกิดขึ้น ท่านจะไม่ปริปากบ่นให้ใครได้ยินแม้ในปัจจุบัน หากมีใครไปถามท่านว่า ท่านหายเจ็บปวดที่หน้าอกหรือยัง ท่านก็จะตอบตรงๆ ว่า “ยัง มันจะเจ็บก็เรื่องของสังขารร่างกายเขา เราไม่เจ็บด้วย” แสดงว่าอาการเจ็บหน้าอกของท่านไม่ได้หายขาดไปเลย แต่ท่านไม่ทุกข์ไม่เดือดร้อนไปกับมัน ท่านได้พยายามทำความเพียร “ต่อสู้กับเวทนาอย่างไม่ย่อท้อ”
ทางคณะศรัทธาญาติโยมเอง เมื่อรู้ว่าท่านเจ็บป่วยอย่างไร ต่างก็พยายามหาหนทางที่จะรักษาให้หายขาด แต่ผลของการรักษาไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ คงเพียงทำให้ท่านมีอาการทุเลาดีขึ้นบ้างเท่านั้น แต่ไม่หายขาด มีอาการเจ็บที่หน้าอกเหลืออยู่บ้าง เช่นเดียวกับอาการเจ็บปวดหลังของท่านที่เคยเป็น
หลวงปู่หลวงท่านบอกว่า มันเป็นกรรมเก่าเพราะท่านระลึกขึ้นได้ว่า ครั้งหนึ่งท่านเคยใช้มีดดาบฟันหลังสุนัขจนมันตายโดยไม่ได้ตั้งใจ ตอนนั้นท่านมีเจตนาแต่เพียงต้องการตีด้วยสันดาบเพื่อเป็นการลงโทษและสั่งสอนมันเท่านั้น ไม่ได้คิดทำร้ายมันจนตาย แต่ด้วยความเผลอ คิดว่าหยิบมีดดาบถูกทางแล้ว คิดว่าเป็นด้านสันดาบซึ่งไม่คมและใช้ตีมัน แต่กลับกลายเป็นว่าได้เอาด้านคมมีดดาบตี หรือฟันถูกกลางหลังสุนัขตัวนั้นจนตาย หลวงปู่ท่านต้องทำบุญอุทิศและแผ่เมตตาให้อยู่หลายปี จึงรู้สึกดีและหายไปในที่สุด นี่เรื่องของกรรม
๏ อุบายธรรมของครูบาอาจารย์
หลังจากที่มีโอกาสได้พบได้ยินได้เห็นปฏิปทาและคำสอนของครูบาอาจารย์ท่านต่างๆ มาพอสมควร หลวงปู่หลวงก็สังเกตเห็นว่าครูบาอาจารย์แต่ละท่านย่อมมีนิสัยและจริยาที่แตกต่างกันไป ต่างมีอุบายธรรมแม้ในเรื่องเดียวกัน ปัญหาเดียวกัน ท่านเหล่านั้นกลับมีอุบายวิธีแก้ไขที่ไม่เหมือนกันบ้าง คล้ายๆ กันบ้าง ทั้งนี้เป็นเพราะคนเรามีจริตนิสัยและพื้นเพที่มาแตกต่างกัน อีกทั้งยังมีเรื่องของหนทางวิธีประกอบด้วยปัญญาของแต่ละคนไม่เท่ากัน ช่วงเวลาที่หลวงปู่หลวงได้อยู่จำพรรษาที่วัดถ้ำพระสบาย ก็ได้มีโอกาสได้ใกล้ชิดอยู่ปรนนิบัติรับใช้ ท่านพ่อลี ธมฺมธโร ซึ่งได้แวะเวียนมาพำนักปฏิบัติธรรมที่วัดถ้ำพระสบายอยู่บ่อยๆ จึงพอคุ้นเคย รวมทั้งได้เห็นปฏิปทาและอุบายธรรมที่ได้ถ่ายทอดแสดงออกมาเพื่อเกื้อกูลต่อพระปฏิบัติด้วยกัน
พอนำมาเปรียบเทียบกับครูบาอาจารย์ท่านอื่นๆ อย่างหลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร แล้วก็ได้พบความแตกต่าง หลังจากที่ได้ทดลองปฏิบัติตามอุบายธรรมของท่านทั้งสองจนเกิดผลแล้ว ท่านเปรียบให้ฟังว่า อุบายธรรมของหลวงปู่สิม พาให้จิตสงบเกิดสมาธิได้เร็ว จนได้รับการยกย่องรับรองจากท่านพระอาจารย์มั่นว่า ท่านสิมนั้นเป็นผู้ทรงคุณ มีปัญญาเลิศ ท่านนำพาหมู่คณะรอดแล้ว แต่อุบายธรรมของท่านพ่อลี พาให้จิตสงบและเกิดปัญญาด้วย ท่านพ่อลีมีทั้งฤทธิ์ทั้งเดช ทั้งแนะทั้งนำในเรื่องของธรรมปฏิบัติ
ท่านพ่อลีมักจะพูดว่า “ตัวเราไม่มีดีอะไร รูปก็ไม่สวย เสียงก็ไม่เพราะ มีดีอย่างเดียวคือเมตตาคน” ซึ่งหลวงปู่หลวงได้จดจำและนำคำพูดนั้นมาถ่ายทอดสอนแก่คณะศรัทธาญาติโยม ได้เก็บนำไปคิดเป็นข้อเตือนใจ ส่วนใครจะน้อมนำไปใช้จนเกิดประโยชน์หรือปัญญาก็แล้วแต่ความคิดและวาสนาของแต่ละคน
ส่วนตัวหลวงปู่หลวงเองนั้น ท่านเคยปรารภว่า “ท่านปรารถนามหาสติ มหาปัญญา” จึงได้พยายามศึกษาและเรียนรู้ในทุกๆ เรื่องที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์และนำไปใช้ได้ โดยได้เพียรพยายามปฏิบัติกรรมฐานภาวนาและฝึกฝนตนเองจนเกิดเป็นมหาสติ มีความรอบรู้ และความทรงจำดีมากแม้ในวัยชราภาพ
๏ ช่วยงานท่านพ่อลี
พอได้เวลาออกพรรษา หลวงปู่หลวงทีแรกได้ตั้งใจว่าจะเที่ยวเดินรุกขมูลต่อไปในที่ต่างๆ โดยจะไปพักอยู่ตามป่าช้า แห่งละไม่นานวันนัก แค่ ๗ วัน แล้วก็เปลี่ยนที่เรื่อยไป จะได้ไม่ติดที่ติดญาติโยมหรือสบายเกินไป การเปลี่ยนที่ภาวนาอยู่เสมอช่วยทำให้มีความตื่นตัวด้วยความแปลกและยังไม่ทันชินต่อสถานที่ แม้ในยามจาก พวกญาติโยมที่มาทำบุญด้วยก็ยังไม่ทันคุ้นเคยทำให้เกิดความผูกพันจนเกินไป ทำให้ง่ายต่อการเดินทางและการปฏิบัติอีกด้วย ไม่ยุ่งยากดี แต่พอทำเข้าจริงๆ ก็ทำได้แต่เพียงไปพักที่ป่าช้าบ้านค้อเพียงแห่งเดียว
ก็พอดีคุณนายกิมเหรียญ กิ่งเทียน ศรัทธาญาติโยมทาง อ.เกาะคา ได้ตามมาพบและได้นิมนต์ท่านให้ไปช่วยสร้างอุโบสถและกำแพงที่วัดป่าสำราญนิวาส จ.ลำปาง หลวงปู่หลวงจึงต้องเดินทางกลับไปช่วยงานดังกล่าวอยู่ระยะหนึ่ง ก็ได้ข่าวว่า ท่านพ่อลี ธมฺมธโร แห่งวัดอโศการาม ได้จัดงานใหญ่ฉลองสมโภช ๒๕ พุทธศตวรรษ ที่พระพุทธศาสนามีอายุครบ ๒,๕๐๐ ปี เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๐ โดยงานจัดให้มีขึ้นนานถึง ๑๙ วัน ณ วัดอโศการาม จ.สมุทรปราการ หลวงปู่หลวงจึงได้ตั้งใจว่าจะไปร่วมช่วยงานดังกล่าวด้วย ซึ่งในงานนี้มีพระเถรานุเถระในสายวิปัสสนากรรมฐานหลายรูปไปร่วมงานด้วย อาทิเช่น หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม, หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร และหลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน เป็นต้น ก็ได้เดินทางล่วงหน้าไปร่วมงานนี้ก่อนแล้ว
(ในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ นี้อันเป็นปีที่พระพุทธศาสนาได้เกิดมีขึ้นในโลกนี้ครบ ๒,๕๐๐ ปี ชาวพุทธทั่วโลกจึงถือเป็นวาระโอกาสที่สำคัญ ได้จัดให้มีงานเฉลิมฉลองกันเป็นงานใหญ่ ทางรัฐบาลไทยเองก็แลเห็นความสำคัญของวาระนี้เช่นกัน จึงได้จัดงานสมโภชเป็นการใหญ่ขึ้นที่ท้องสนามหลวง กรุงเทพฯ และอีกหลายที่ เพราะถือว่าเป็นช่วงเวลากึ่งพุทธกาลที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสมณโคดม ได้ทรงมีพุทธพยากรณ์ไว้ว่า พระศาสนาของพระองค์จะมีอายุยาวนานประมาณ ๕,๐๐๐ ปี ช่วงเวลานั้นอายุของพระพุทธศาสนาได้ผ่านมาครึ่งหนึ่งแล้ว)
หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม และท่านพ่อลี ธมฺมธโร
ได้ร่วมกันนำพาคณะสงฆ์ไหว้พระ-สวดมนต์ ร่วมกับญาติโยม
ในงานฉลองสมโภช ๒๕ พุทธศตวรรษ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๐
ณ วัดอโศการาม ต.ท้ายบ้าน อ.เมือง จ.สมุทรปราการ
จากซ้าย : หลวงปู่ท่อน ญาณธโร, หลวงปู่หลวง กตปุญฺโญ,
พระอาจารย์หลอ นาถกโร, หลวงตาคำดี ปัญโญภาโส
และคณะภิกษุสงฆ์ ร่วมกันถวายทองคำและปัจจัยสมทบผ้าป่าช่วยชาติ
ณ วัดป่าบ้านตาด ต.บ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี
๏ กลับสู่ลำปาง
เมื่องานฉลองสมโภช ๒๕ พุทธศตวรรษ ณ วัดอโศการาม จ.สมุทรปราการ ผ่านพ้นไปแล้ว บรรดาพระเถรานุเถระต่างได้ทยอยกันแยกย้ายกลับสู่วัด ที่มา ส่วนตัวหลวงปู่หลวงเองก็ได้เดินทางกลับมาทางภาคเหนือ เพื่อแสวงหาสถานที่อันเหมาะสมในการบำเพ็ญสมณธรรมต่อไป ครั้นพอใกล้เข้าพรรษา ก็ได้ตัดสินใจอยู่จำพรรษาที่ วัดป่าสามัคคี อ.แม่ทะ จ.ลำปาง ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากวัดถ้ำพระสบายมากนัก คืออยู่ในเขต อ.แม่ทะ นั่นเอง (ปัจจุบันวัดป่าสามัคคี ได้กลายเป็นวัดบ้านทางสายมหานิกายไปแล้ว) ปีนี้นับเป็นพรรษาที่ ๙
แต่ช่วงก่อนจะเข้าพรรษา ท่านพ่อลีได้จัดงานฉลองพระธาตุเจดีย์ ซึ่งท่านได้ร่วมกับคณะศรัทธาชาวบ้านช่วยกันสร้างขึ้นภายในถ้ำพระสบายนี่เอง โดยท่านพ่อลีได้นำเอาพระบรมสารีริกธาตุและพระบรมธาตุที่ท่านได้มา มาบรรจุไว้ในเจดีย์องค์นี้ เพื่อเป็นที่สักการะของศรัทธาชาวพุทธทั่วไป หลวงปู่หลวงได้มาร่วมงานฉลองพระธาตุเจดีย์ครั้งนี้ด้วย ซึ่งตรงกับวันอังคารที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๑ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ปีจอ และได้ยึดเอาเป็นประเพณีในการจัดงานทำบุญฉลองพระธาตุเจดีย์ที่ถ้ำพระสบาย ในวันนี้เรื่อยมาจนทุกวันนี้ แม้ในวันพระธรรมดา คือ วันพระขึ้น ๘ ค่ำ และขึ้น ๑๕ ค่ำ ก็จะมีชาวบ้านไปปฏิบัติธรรมและทำการสักการบูชามิได้ขาด
๏ นิมิตมหัศจรรย์แห่งการสร้างอุโบสถ
หลวงปู่หลวง กตปุญโญ ได้กลับมาพัฒนาวัดป่าสำราญนิวาสอย่างจริงจังในช่วงพรรษาที่ ๑๐ คือ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๒ เป็นต้นมา หลังจากที่ท่านได้ออกจาริกธุดงค์แสวงหาโมกขธรรมในหลายท้องที่หลายแห่งอย่างจริงจังอยู่ระยะหนึ่ง ในปี พ.ศ. ๒๕๐๒ ท่านก็คิดจะกลับมาจำพรรษาที่วัดป่าสำราญนิวาสอย่างเดิม เพราะหลวงปู่แว่นท่านได้เคยฝากให้หลวงปู่หลวงช่วยเป็นธุระดูแลทั้งสองวัด คือทั้งที่วัดป่าสำราญนิวาสและที่วัดถ้ำพระสบาย
วัดป่าสำราญนิวาส ได้รับการยกฐานะขึ้นให้เป็นวัดอย่างถูกต้องสมบูรณ์ เมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๖ และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๘ แต่ก่อนหน้านั้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๖ ก็ได้ทำการวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างอุโบสถ โดยคณะศรัทธาญาติโยมได้เห็นพ้องต้องกันว่า ให้กำหนดสถานที่ก่อสร้างไว้ตรงบริเวณข้างกุฏิหลวงปู่หลวงหลังเก่า ที่โยมอุบล บริราช ได้สร้างถวาย (ซึ่งตั้งอยู่ริมถนนที่กลางวัดในปัจจุบัน) และได้ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์เรียบร้อยแล้ว
พอวันถัดมา ได้เกิดเหตุนิมิตอัศจรรย์ ปรากฏมีแสงสว่างไสวพร้อมกับมีรอยเท้าซึ่งเข้าใจว่าเป็นรอยเท้าของพระอริยเจ้า มีขนาดยาวประมาณ ๑ ศอก อยู่ตรงบริเวณมุขซ้ายมือด้านข้างหน้า (เมื่อหันหน้าเข้าอุโบสถ) ของอุโบสถหลังปัจจุบ้น ปรากฏการณ์นี้ได้เกิดให้เห็นอยู่รวม ๓ วัน เป็นที่อัศจรรย์ใจของทุกคน
เมื่อเป็นเช่นนี้ ทางคณะสงฆ์และหมู่คณะศรัทธาญาติโยมได้ประชุมกันอีกครั้ง เห็นสมควรว่าน่าจะเปลี่ยนสถานที่สร้างอุโบสถจากที่กำหนดไว้เดิม เป็นบริเวณที่มีปรากฏการณ์อัศจรรย์นิมิตนั้นเกิดขึ้น ถือว่าเป็นนิมิตดีที่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้มาเนรมิตบอกเป็นนัยใหม่ จึงได้ทำการก่อสร้างอุโบสถขึ้นมาตรงสถานที่แห่งนั้น
ตัวอุโบสถมีขนาดไม่ใหญ่โตนัก ด้วยความจำเป็นของสภาวะเศรษฐกิจในยุคนั้น โดยมีศรัทธาเจ้าแม่บัวหอม อิศรางกูร ณ อยุธยา พร้อมญาติมิตรเป็นกำลังสำคัญหลัก ทั้งโครงสร้างตัวอุโบสถก็ไม่ค่อยแข็งแรง ส่วนใหญ่พระและเณรจะทำกันเอง ตัวหลวงปู่หลวงก็ได้ลงมือลงแรงช่วยเขาด้วย ตั้งแต่การผสมปูน ก่ออิฐ และงานมุงหลังคา เป็นต้น ทำให้อายุการใช้งานไม่นานเท่าที่ควร แต่ก็ใช้งานมาได้กว่า ๔๐ ปี
อุโบสถหลังนี้เมื่อสร้างเสร็จ ก็ได้ไช้เป็นที่ทำสังฆกรรมของพระภิกษุสงฆ์ภายในวัด และยังได้ใช้เป็นที่อุปสมบทพระภิกษุสามเณรในกาลต่อมาอีกหลายๆ รูป เพราะในวันที่ ๓๐ เมษายน ปี พ.ศ. ๒๕๑๑ หลวงปู่ก็ได้รับแต่งตั้งจาก สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี) เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุตในขณะนั้น ให้เป็นพระอุปัชฌาย์คณะธรรมยุต ทำหน้าที่อุปสมบทพระภิกษุสามเณรมากมายหลายสิบองค์
หลวงปู่หลวงได้เคยบอกว่า ท่านได้บวชพระมากกว่าอุปัชฌาย์องค์อื่นๆ ในสมัยนั้น เพราะตอนนั้นอุปัชฌาย์มีน้อยไม่พอเพียง ท่านรับงานตั้งแต่ จ.นครสวรรค์ จรดจนถึง จ.เชียงใหม่ และ จ.เชียงราย ทำให้ระยะนั้นท่านไม่ค่อยมีโอกาสปลีกวิเวกออกธูดงค์เท่าใดนัก เพราะงานในหน้าที่ด้านต่างๆ เริ่มมีเข้ามามาก อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ เช่น เครื่องพิมพ์ดีด ปากกายังไม่มีใช้ ต้องใช้ดินสอเขียนรายงานด้วยมือ ตอนนั้นได้ค่านิตยภัต ๑,๘๐๐ บาท ซึ่งมีค่าพอสมควรในสมัยนั้น
ครั้นอุโบสถหลังเก่าได้ชำรุด แตกร้าว จนในที่สุดคณะสงฆ์และกรรมการวัดได้มีมติให้ทำการรื้อถอน และสร้างขึ้นใหม่เป็นที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว ซึ่งในงานวันบูรพาจารย์ ได้มีการฉลองสมโภชอุโบสถ เจดีย์ และทำบุญครบรอบอายุ ๘๒ ปี ของหลวงปู่หลวง ระหว่างวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ ถึงวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๔๖
สำหรับงานออกแบบและการควบคุมการก่อสร้างอุโบสถหลังใหม่นี้ มี ท่านพระอาจารย์ไพบูลย์ สุมงฺคโล (ปัจจุบันดำรงสมณศักดิ์ที่ พระเทพวิสุทธิญาณ) เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ ซึ่งท่านพระอาจารย์ไพบูลย์นี้เคยบวชและอยู่ปฏิบัติธรรมที่วัดป่าสำราญนิวาสแห่งนี้มาก่อน ในปี พ.ศ. ๒๕๐๖ โดยมี หลวงปู่หลวง กตปุญฺโญ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ท่านจึงมีความเคารพในตัวหลวงปู่หลวง และผูกพันกับวัดแห่งนี้มากพอสมควร
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี)
พระอาจารย์ไพบูลย์ สุมงฺคโล
๏ สร้างเจดีย์คู่วัด
หลังจากที่อุโบสถหลังเดิมได้สร้างเสร็จใหม่ๆ และทำการฉลองเสร็จไปแล้ว อันเป็นปีเดียวกับที่วัดป่าสำราญนิวาสได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ทางคณะศรัทธาญาติโยมได้ร่วมกันบริจาคปัจจัยเพื่อที่จะสร้างเจดีย์ขึ้นมาอีกองค์หนึ่ง สำหรับบรรจุพระบรมธาตุและพระอัฐิธาตุของพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ ที่ศิษย์ท่านหนึ่งคือ แม่ชีสมบัติ ซึ่งเป็นคนกรุงเทพฯ แต่ได้มีโอกาสไปอยู่พักจำพรรษาและอุปัฏฐากท่านพระอาจารย์มั่น ในช่วงระยะหลังก่อนท่านจะมรณภาพที่บ้านหนองผือ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร
ด้วยความใกล้ชิดและการตั้งใจปรนนิบัติครูบาอาจารย์ ภายหลังจากที่ท่านพระอาจารย์มั่นละทิ้งสังขารแล้ว แม่ชีสมบัติจึงมีโอกาสได้รับอัฐิของท่านพระอาจารย์มั่นมาบูชาจำนวนหนึ่ง ต่อมาภายหลังแม่ชีสมบัติได้ย้ายมาพักจำพรรษาที่วัดป่าสำราญนิวาส ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับทางวัดกำลังดำเนินการก่อสร้างเจดีย์ จึงได้คิดจะเอาอัฐิครูบาอาจารย์ไปร่วมบรรจุด้วย
เมื่อนำเอาอัฐิท่านพระอาจารย์มั่นออกมาดู ก็ได้พบว่าอัฐิเหล่านั้นได้แปรสภาพเป็นพระธาตุงามสดใสยิ่งนัก เป็นที่น่าตื่นเต้นยินดีของผู้ที่ได้พบเห็น แม่ชีสมบัติได้ตัดสินใจถวายพระธาตุทั้งหมดเพื่อบรรจุไว้ในเจดีย์ สำหรับให้พระพุทธศานิกชนทั้งหลายได้กราบไหว้บูชาต่อไป จึงได้นับว่าเป็นบุญกุศลของวัดป่าสำราญนิวาสที่มีอัฐิธาตุของท่านพระอาจารย์มั่น พระมหาเถระผู้ประเสริฐและทรงคุณเป็นเอกในสายวิปัสสนาบรรจุอยู่
นอกจากอัฐิธาตุของท่านพระอาจารย์มั่นแล้ว ภายในเจดีย์องค์นี้ ท่านพ่อลี ธมฺมธโร ยังได้นำเอาวัตถุมงคลส่วนหนึ่งมาบรรจุไว้ด้วย ทางวัดได้ตั้งชื่อเจดีย์องค์นี้ว่า “พระธาตุเจดีย์หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต” โดยได้สร้างอยู่ทางด้านหลังของอุโบสถหลังเดิมจนถึงทุกวันนี้ ปัจจุบันตัวองค์เจดีย์ได้เกิดเอนเอียงไปจนพอสังเกตุได้ ต่อมาจึงได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่พร้อมกับอุโบสถหลังใหม่ โดยมิได้รื้อทิ้ง แต่ได้สร้างครอบเจดีย์องค์เดิมไว้ เพื่อให้ตั้งอยู่คู่เป็นศรีสง่าแก่วัดป่าสำราญนิวาสต่อไป
๏ พัฒนาวัดพัฒนาจิต
หลวงปู่หลวงได้ตั้งใจอยู่พัฒนาวัดป่าสำราญนิวาสอย่างจริงจัง ตั้งแต่ที่ท่านได้กลับมาอยู่จำพรรษาที่วัดแห่งนี้ ในปี พ.ศ. ๒๕๐๒ แต่งานด้านการพัฒนาจิตใจทั้งของตัวท่านเองและชาวบ้าน ท่านก็ไม่ละทิ้ง คงกระทำควบคู่กันไป งานการก่อสร้างท่านก็เร่งทำเพราะมีกำลังศรัทธาจากสาธุชนทั้งหลายๆ สายสนับสนุนอยู่มาก เพราะมีความศรัทธาเลื่อมใสทั้งต่อพระป่ากรรมฐานและต่อตัวท่านหลวงปู่หลวงเอง ทำให้งานด้านการก่อสร้างและพัฒนาเสนาสนะต่างๆ ภายในวัด ไม่สะดุดค้างคา มีความเจริญขึ้นเป็นลำดับ
วัดป่าสำราญนิวาส เป็นวัดที่มักจะมีพระเถระที่มีปฏิปทาน่าเลื่อมใสแวะมาพำนักอยู่เสมอๆ อาทิ เช่น หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม, หลวงปู่เทสก์ เทสฺรํสี, หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร, หลวงปู่แว่น ธนปาโล, หลวงปู่ชอบ ฐานสโม, หลวงปู่บุญจันทร์ จนฺทวโร, หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ และท่านพ่อลี ธมมฺธโร เป็นต้น นับว่าชาวบ้านญาติโยม อ.เกาะคา มีความโชคดีและมีวาสนาที่ได้ทำบุญกับพระเถระที่เป็นพระอริยเจ้าหลายๆ องค์อยู่เป็นประจำ
ในปี พ.ศ. ๒๕๐๒ นี่เอง วันหนึ่งท่านพ่อลีได้รับกิจนิมนต์ไปในงานทำบุญบ้านแม่ชีสมบูรณ์ สรัสยะนันท์ ที่หน้าตลาด อ.เกาะคา ทางเจ้าภาพได้ถวายปัจจัยไทยธรรมแก่ท่านเป็นเงิน ๔๕ บาท ท่านพ่อลีจึงได้เอาปัจจัยดังกล่าวมาตั้งเป็นกองทุนก่อสร้างศาลาปฏิบัติธรรม เพื่อให้ใช้เป็นที่ทำวัตรปฏิบัติของพระภิกษุสามเณร แม่ชี และเป็นที่ประกอบศาสนพิธีของชาวบ้านญาติโยมด้วย ได้มีคณะศรัทธาหลายหมู่หลายคณะช่วยกันบริจาคปัจจัยสมทบในการก่อสร้าง จนแล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๕๐๔ และได้ตั้งชื่อศาลาหลังนี้ว่า “ศาลาสุทธิธรรมเมตตา” เพื่อเป็นการระลึกถึงคุณของท่านพ่อลี ธมมฺธโร ที่มีต่อวัดป่าสำราญนิวาสแห่งนี้
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๐๘ นายพงษ์เดช จงกล นายอำเภอเกาะคา (ในสมัยนั้น) ร่วมกับคณะศรัทธาญาติโยมใน อ.เกาะคา ได้พร้อมใจกันทำการหล่อรูปเหมือนท่านพ่อลี ธมฺมธโร ขนาดเท่าองค์จริง หล่อด้วยเนื้อนวโลหะ เพื่อไว้เป็นที่ระลึกและที่สักการบูชา จะได้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่วัดแทนองค์จริงของท่านซึ่งได้มรณภาพไปแล้ว ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๔ ด้วยสิริอายุเพียง ๕๕ ปี
เมื่อทำการหล่อและขัดแต่งรูปเหมือนเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ได้มีการอัญเชิญรูปหล่อท่านพ่อลีขึ้นประดิษฐานไว้บน “ศาลาสุทธิธรรมเมตตา” ก็ได้มีญาติโยมผู้ชายหลายคนช่วยกันออกแรงยกรูปหล่อของท่านอย่างเต็มกำลัง แต่ปรากฏว่ายกอย่างไรก็ไม่ขึ้น ไม่ขยับเขยื้อนเลยแม้แต่น้อย เหมือนกับว่ารูปหล่อนั้นมีน้ำหนักมากจนยกไม่ไหว ได้พยายามกันอยู่นาน พอดีหลวงปู่หลวงท่านนึกขึ้นได้ว่า ท่านพ่อลีท่านมีนิสัยเจ้าระเบียบ ถ้าเจ้าอาวาสไม่นิมนต์ท่านให้ขึ้นบนศาลาฯ แล้วท่านจะไม่ยอมขึ้น เมื่อคิดได้เช่นนั้นแล้ว หลวงปู่หลวงก็ได้ยกมือขึ้นพนมพร้อมกับกล่าวนิมนต์ท่านพ่อลีให้ขึ้นบนศาลาฯ เพียงเท่านั้นเอง รูปหล่อที่เคยหนักจนแทบขยับเขยื้อนไม่ไหว ก็กลับเบา พากันออกแรงไม่เท่าไรก็สามารถอัญเชิญขึ้นไปไว้บนศาลาฯ ได้โดยง่าย รูปหล่อท่านพ่อลีนั้นจึงเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านญาติโยมพากันกราบไหว้สักการบูชาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
พอว่างเว้นจากภารกิจการงานด้านอื่นๆ ในหน้าที่ หลวงปู่หลวงก็จะหันไปทำความเพียรภาวนา ปฏิบัติตามข้อวัตรต่างๆ ที่ครูบาอาจารย์ท่านได้เคยทำให้เห็นเป็นแบบอย่าง ท่านจะไม่ละทิ้งหรือละเลย แม้ว่าวันนั้นๆ จะมีความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าร่างกายสักเพียงใด คงปฏิบัติตามคำสอนของครูบาอาจารย์อย่างสม่ำเสมอ เพราะท่านเล็งเห็นความสำคัญในการบำเพ็ญทางจิต จนมีอยู่วันหนึ่งท่านเกิดสงสัยในจิตของตนเองว่า ทำไมถึงได้มีจิตใจจดจ่อวนเวียนอยู่แถวๆ บริเวณที่ข้างห้องน้ำ ซึ่งอยู่ทางด้านหลังของศาลาสุทธิธรรมเมตตา (ปัจจุบันห้องน้ำนั้นได้รื้อไปแล้ว) เมื่อได้นั่งภาวนาทบทวนตรวจดูนิมิตความเป็นไป ก็ได้พบว่า ในครั้งอดีตหลายๆ ชาตินานมาแล้ว ตัวท่านเคยเกิดเป็นวัว เป็นเก้ง อาศัยอยู่ในราวป่าบริเวณนั้นนั่นเอง ถึงได้มีความรู้สึกคุ้นกับสถานที่แห่งนั้นดี ทั้งยังได้กลับมาเกิดอีกหลายครั้ง และได้พำนักอยู่ที่สถานที่อันเป็นวัดป่าสำราญนิวาส แม้ในชาติปัจจุบัน
ส่วนงานด้านการอบรมสั่งสอนคณะศรัทธาญาติโยม ให้มีความรู้ความเข้าใจในธรรมปฏิบัติ ให้รู้จักบาป บุญ คุณ โทษ มีความละอายและเกรงกลัวต่อบาปกรรม หลวงปู่หลวงท่านก็ได้ทำอยู่เสมอเมื่อมีโอกาส ทั้งการเทศนาอบรมในวันพระ วันถืออุโบสถ หรือในกิจนิมนต์ตามสถานที่ต่างๆ ท่านก็มักจะหาโอกาสแสดงธรรมอบรมจิตใจศรัทธาชาวบ้านทุกครั้ง ทำให้ชื่อเสียงของหลวงปู่หลวง กตปุญโญ เป็นที่รู้จักและยอมรับของชาวบ้านญาติโยม ขจรไกลไปทั่วหลายอำเภอและในหลายจังหวัด
ความสงบร่มรื่นของต้นไม้นานาพันธุ์ภายใน “วัดคีรีสุบรรพต” หรือวัดดอยฯ
หรือวัดสามัคคีบุญญาราม ต.พระบาท อ.เมือง จ.ลำปาง (ในปัจจุบัน)
๏ สร้างสำนักสงฆ์คีรีสุบรรพต
ในปี พ.ศ. ๒๕๓๖ หลวงปู่หลวงได้ไปสร้าง “สำนักสงฆ์คีรีสุบรรพต” ขึ้น ซึ่งถือได้ว่าเป็นวัดสาขาของวัดป่าสำราญนิวาส โดยสำนักสงฆ์ฯ ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านทุ่งสามัคคี ต.พระบาท อ.เมือง จ.ลำปาง โดยมีนายระวุฒิ แจ้งมงคล ซึ่งเป็นคนจังหวัดสมุทรปราการ เป็นผู้ถวายที่ดินให้กับหลวงปู่
ครั้งแรกหลวงปู่ได้เดินทางกลับจากวัดป่าสำราญนิวาส ไปดูสถานที่ก่อน ซึ่งในขณะนั้นการเดินทางลำบากมาก ทางรถยนต์เข้าเกือบไม่ได้ เพราะเป็นทางรถเครื่อง (รถมอเตอร์ไซต์) ของชาวบ้านที่ไปหาของป่ามาขาย พอไปถึงหลวงปู่หลวงก็บอกว่า “เป็นสถานที่ที่เหมาะกับการบำเพ็ญสมณธรรมมาก เพราะเป็นที่ห่างไกลจากหมู่บ้านพอสมควร และอากาศก็ปลอดโปร่งเย็นสบาย”
หลวงปู่จึงได้จุดธูป ๕ ดอก บอกกับเจ้าที่เจ้าทางในสถานที่นั้นให้ได้รับทราบ จึงถือได้ว่าสำนักสงฆ์คีรีสุบรรพต ได้เริ่มก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๓๖ นี้เอง จากนั้นก็ได้มีการสร้างกุฏิและศาลาชั่วคราวหลังเล็กๆ พอที่จะเป็นที่อยู่อาศัยและทำวัตรไหว้พระสวดมนต์และเป็นที่ฉันเช้าได้ ต่อมาก็ได้มีการพัฒนา มีการก่อสร้างหลายๆ อย่างตามมา คือ สร้างกุฏิถาวร สร้างศาลาหลังใหม่ให้มั่นคงแข็งแรงมากขึ้นกว่าเดิม และได้ทำการสร้างถนนลาดยางเป็นทางเข้าสำนักสงฆ์แห่งใหม่เป็นที่เรียบร้อย จนการเดินทางสะดวกสบายขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า
หลวงปู่หลวงได้ไปอยู่จำพรรษาอย่างเป็นจริงเป็นจังที่สำนักสงฆ์คีรีสุบรรพต เมื่อเข้าพรรษาในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ โดยอยู่จำพรรษาติดต่อกันเป็นระยะเวลา ๓ ปี คือ ปี พ.ศ. ๒๕๓๗-๒๕๓๙ แต่หลวงปู่หลวงจะกลับลงไปที่วัดป่าสำราญนิวาสบ้างในบางโอกาส เช่น เมื่อมีญาติโยมนิมนต์เพื่อทำบุญ มีการบวชพระ หรือเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา หรือเป็นวันพระ ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ หลวงปู่ก็จะไปเทศน์โปรดคณะศรัทธาญาติโยม แล้วพักค้างคืนหนึ่งคืน พอเช้าวันใหม่ฉันเช้าเสร็จแล้วก็จะกลับขึ้น วัดดอยฯ (หลวงปู่หลวงจะเรียก สำนักสงฆ์คีรีสุบรรพต ว่า วัดดอยฯ) เพื่อพักผ่อนและบำเพ็ญในกิจวัตร-ข้อวัตร
ในช่วงแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๗ การเป็นอยู่ลำบาก โดยเฉพาะการเดินทางระยะทางจากหมู่บ้านเข้าไปถึงสำนักสงฆ์ฯ ยิ่งเป็นหน้าฝนการเดินทางก็สุดแสนจะยากลำบากเพราะถนนไม่ดี เป็นทางวัวควายเดินและชาวบ้านเดินทางไปหาของป่า ถนนหนทางเต็มไปด้วยโคลนตม มีอยู่หลายครั้งที่การเดินทางจะต้องเสียเวลาไปหลายชั่วโมงเพราะรถของหลวงปู่ติดหล่ม เดินทางต่อไปไม่ได้ ต้องเรียกพระเณรในวัดมาช่วยกันเข็นรถขึ้นจากหล่มก่อนจึงเดินทางต่อไปได้ บางทีกว่าจะขึ้นได้ ต้องเสียเวลาหลายชั่วโมงเลยทีเดียว
ในช่วงปีแรกที่อยู่จำพรรษาไม่มีไฟฟ้าใช้ ต้องใช้ไฟจากแบตเตอรี่แทน ซึ่งใช้เฉพาะในกุฏิหลวงปู่ที่เดียว ส่วนของพระเล็กเณรน้อยต้องอาศัยจุดตะเกียงหรือจุดเทียนพอให้ได้แสงสว่าง
สำหรับช่วงจำพรรษา ๓ เดือน เป็นฤดูฝนจะมียุงชุมมาก ขณะนั่งทำวัตร-สวดมนต์ไปก็ต้องไล่ยุงไปด้วย เพราะตอนนั้นมุ้งลวดยังไม่มีใช้ จุดยากันยุงก็ไม่หนี ถ้าจุดมากพระเณรก็เมายากันยุงกันเสียก่อนอีก หลวงปู่ท่านจึงมักพูดบ่อยๆ ว่าอยู่ที่วัดดอยฯ นี้ต้องอดทนทุกอย่าง
ในระยะหลังจากนั้นมา จึงได้รับการพัฒนามาเป็นระยะๆ คือ ทำเรื่องของไฟฟ้าเข้ามาไว้ใช้ในวัด และจ้างบริษัทของเอกชนเข้ามาบุกเบิกทำถนนลาดยางเข้าวัด โดยไม่ต้องใช้งบประมาณจากทางราชการเลย แต่ด้วยอาศัยจตุปัจจัยกำลังทรัพย์จากคณะศิษยานุศิษย์ของหลวงปู่หลวงเองทั้งนั้น ทั้งจากใน จ.ลำปาง กรุงเทพฯ และในจังหวัดต่างๆ เพราะเวลาหลวงปู่หลวงไปกิจนิมนต์ในที่ต่างๆ หลวงปู่ก็จะบอกคณะศรัทธาญาติโยมว่ากำลังก่อสร้างสิ่งนั้นๆ อยู่ คณะศรัทธาญาติโยมก็จะเป็นธุระช่วยกันสละทุนทรัพย์คนละเล็กละน้อยตามกำลังศรัทธา แล้วหลวงปู่ก็จะนำปัจจัยเหล่านั้นมาบำรุงพัฒนาภายในวัดให้เจริญก้าวหน้าต่อไปเป็นลำดับ
พระครูการุณยธรรมนิวาส (หลวงปู่หลวง กตปุญโญ)
๏ จำพรรษาวัดม่อนหินขาว
ในช่วงที่หลวงปู่หลวงพักจำพรรษาอยู่สำนักสงฆ์คีรีสุบรรพตนั้น คณะศรัทธาพี่น้องชาว อ.สบปราบ ได้มาขอพระภิกษุเพื่อให้ไปจำพรรษาอยู่ที่ วัดม่อนหินขาว บ้านทุ่ง ต.สบปราบ อ.สบปราบ จ.ลำปาง ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่สร้างมานานแล้วแต่ไม่มีพระเณรอยู่จำพรรษา ว่างเว้นมาเป็นระยะเวลาหลายปี หลวงปู่จึงได้จัดพระไปอยู่จำพรรษาให้
ขณะเดียวกันคณะศรัทธาชาวบ้านก็ได้อาราธนานิมนต์หลวงปู่ไว้ว่า อยากให้หลวงปู่ไปอยู่พักจำพรรษาที่วัดม่อนหินขาว เพื่อโปรดคณะศรัทธาญาติโยมชาว อ.สบปราบ บ้าง
เหตุนั้นเมื่อหลวงปู่อยู่จำพรรษาที่สำนักสงฆ์คีรีสุบรรพต ครบ ๓ ปี ในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ หลวงปู่จึงได้ไปอยู่จำพรรษาในช่วงไตรมาส ๓ เดือน ที่วัดม่อนหินขาว อ.สบปราบ จ.ลำปาง ในปีนั้นมีพระเณรติดตามหลวงปู่ไปอยู่จำพรรษาด้วยประมาณ ๑๕ รูป ศรัทธาชาวบ้านทุ่งดีใจกันถ้วนหน้า โดยได้สร้างกุฏิหลังใหม่ให้หลวงปู่ได้อยู่จำพรรษา
ตลอดระยะเวลา ๓ เดือน ที่วัดม่อนหินขาวนี้จะมีคณะศรัทธาญาติโยม คนเฒ่าคนแก่ ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย มาจำศีลภาวนากันเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในกาลเข้าพรรษาจะมีอยู่ประมาณ ๖๐-๗๐ คน จะพากันมานุ่งขาวห่มขาวแล้วนอนพักค้างคืนที่วัด ตกเย็นมาก็พากันทำวัตรสวดมนต์ พอถึงเวลาประมาณ ๒๐.๐๐ น. หลวงปู่หลวงก็จะลงไปที่ศาลา เพื่อเทศน์แสดงธรรมโปรดคณะศรัทธาญาติโยมให้พากันตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรม โดยเฉพาะศีล ๕ ศีล ๘ ให้พากันรักษาไว้ให้ได้ เพราะเป็นศีลของผู้ครองเรือนหรือผู้ถือพรหมจรรย์ที่จะต้องประพฤติปฏิบัติ เพราะเป็นศีลขั้นพื้นฐานที่จะนำไปสู่มรรคผลนิพพานในธรรมชั้นสูงต่อไป ถ้าศีลดีแล้ว การประพฤติปฏิบัติก็จะดีไปเป็นลำดับ แต่ถ้าศีลไม่ดีแล้ว การปฏิบัติต่างๆ ก็จะไม่ดี เป็นเหตุต่อเนื่องกันไป
จะเห็นได้ว่าคณะศรัทธาชาวบ้านทุ่ง อ.สบปราบ จะมีความตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรมมากพอสมควร เพราะในระยะเวลาที่หลวงปู่อยู่จำพรรษานั้นคนเฒ่าคนแก่ ผู้ชายจะเข้ามาในอุปัฏฐากดูแลพระเจ้าพระสงฆ์เป็นอย่างดี น้ำใช้ น้ำฉัน ตลอดจนน้ำปานะ หากไม่มี ญาติโยมก็จะช่วยกันขวนขวายหามาถวาย ไม่ให้ขาดตกบกพร่อง ตลอดจนเอาใจใส่ดูแลการเป็นอยู่ขบฉันของพระเณรไม่ให้ขาด ให้เพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงร่างกายบำรุงธาตุขันธ์เพื่อให้มีกำลังในการปฏิบัติธรรม โดยที่ไม่ให้มีเวทนากับความอ่อนเพลีย เพื่อจะได้ทำกิจวัตร-ข้อวัตรของพระภิกษุ-สามเณร โดยเฉพาะการทำวัตร ไหว้พระสวดมนต์ ท่องบ่นสาธยายมนต์ และการทำสมาธิภาวนา เพื่อตอบแทนบุญคุณหรือให้เกิดมีอานิสงส์แก่คณะศรัทธาญาติโยมที่เข้าได้ถวายอาหารและบิณฑบาตตลอดทุกเช้าอยู่เป็นประจำ
หลวงปู่มักจะพูดยกย่องชมเชยคณะศรัทธาญาติโยมวัดม่อนหินขาวอยู่บ่อยๆ ว่า ชาว อ.สบปราบ เขาดีมาก เอาใจใส่ดูแลพระเณรและพากันตั้งใจรักษาศีลอยู่เป็นประจำ เหตุนั้นจึงมีแต่ผู้สูงอายุยืนยาวถึง ๘๐ ปี ๙๐ ปี มีแต่คนเฒ่าอยู่เฝ้าบ้านทั้งนั้น ก็คงจะเป็นจริงดังหลวงปู่ว่า เพราะถึงแม้ในช่วงออกพรรษา คณะศรัทธาญาติโยมก็ยังมานอนรักษาศีลภาวนากันอยู่ไม่ขาด แม้แต่บางครั้งในช่วงที่ไม่มีพระเณรอยู่ในวัด คณะศรัทธาญาติโยมก็ยังมาอยู่ดูแลวัดเสนาสนะ กุฏิ ศาลา ให้อยู่ในสภาพที่ดีตลอดไป
หลวงปู่ได้อยู่จำพรรษาที่วัดม่อนหินขาว ๒ พรรษา คือในปี พ.ศ. ๒๕๔๐-๒๕๔๑ ขณะที่จำพรรษาที่วัดม่อนหินขาวนี้ หลวงปู่ได้พาคณะศรัทธาญาติโยมฝึกหัดปฏิบัติธรรม นั่งสมาธิภาวนา อบรมสั่งสอนมาเป็นลำดับ
ในด้านการก่อสร้าง หลวงปู่หลวงก็ได้ปรับปรุงศาลาหลังเดิมให้แข็งแรงมั่งคงกว่าเก่า คือได้ปูกระเบื้องและเปลี่ยนหลังคาใหม่ให้ดีกว่าเดิม สร้างกฏิและห้องน้ำเพิ่มเติมให้พอเพียงแก่การใช้ของพระภิกษุ-สามเณรภายในวัด ตลอดจนคณะศรัทธาญาติโยมที่มารักษาศีลภาวนาอยู่เป็นประจำ
จึงถือได้ว่า วัดม่อนหินขาว เป็นอีกวัดหนึ่งที่เป็นสาขาของวัดป่าสำราญนิวาส คืออยู่ในการดูแลของหลวงปู่หลวง กตปุญฺโญ ครั้นพอออกพรรษารับกฐินแล้ว หลวงปู่หลวงก็เดินทางกลับไปพักจำพรรษาอยู่ที่สำนักสงฆ์คีรีสุบรรพต อีก ๑ พรรษา คือในปี พ.ศ. ๒๕๔๒
พระพุทธรูปและอาณาบริเวณภายในวัดถ้ำพระสบาย จ.ลำปาง
๏ จำพรรษาวัดถ้ำพระสบาย
พระครูภาวนาทัศนวิสุทธิ (หลวงปู่แว่น ธนปาโล) เจ้าอาวาสวัดถ้ำพระสบาย จ.ลำปาง ได้มรณภาพเมื่อวันอังคารที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๑ ด้วยโรคชรา สิริรวมอายุได้ ๘๘ ปี หลวงปู่แว่นถือได้ว่าเป็นพระเถระผู้ใหญ่รูปหนึ่งที่มีศิลาจริยาวัตรอันงดงามและเคร่งครัดมาก โดยเฉพาะในเรื่องของพระธรรมวินัยด้วยแล้วถือเอาเป็นแบบอย่างได้เลย เพราะท่านยึดหลักแบบฉบับในปฏิปทาของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ มาโดยตลอด แม้แต่ข้อปลีกย่อยเล็กน้อย เช่น การฉันมื้อเดียว การฉันในบาตร ท่านจะไม่ให้ขาดตกบกพร่องเลยแม้แต่นิดเดียว
หลวงปู่แว่น จึงเป็นที่เคารพนับถือมาก และเป็นอาจารย์ของหลวงปู่หลวง กตปุญโญ รวมทั้ง มีศักดิ์เป็นญาติพี่น้องกันด้วย โดยเกี่ยวพันเป็นญาติกันทางด้านฝ่ายโยมมารดา เกิดอยู่บ้านเดียวกันคือ บ้านบัว ต.สว่าง อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร เมื่อคราวหลวงปู่แว่นได้มรณภาพลง หลวงปู่หลวงก็ได้เป็นประธานจัดการธุระในหลายอย่างเกี่ยวกับงานพระราชทานเพลิงศพของหลวงปู่แว่น จนเสร็จเรียบร้อยด้วยดีทุกประการ
หลังจากที่หลวงปู่แว่นมรณภาพแล้ว ภาระหน้าที่ในการดูแลวัดถ้ำพระสบาย ก็ต้องตกอยู่ในการดูแลของหลวงปู่หลวงมาโดยตลอด ทั้งในด้านจตุปัจจัยค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าอาหาร เป็นต้น หลวงปู่หลวงจะส่งมาให้เป็นระยะ และจะไปพักค้างคืนที่วัดถ้ำพระสบายบ้างในบางโอกาส
จนในปี พ.ศ. ๒๕๔๓ หลวงปู่หลวงจึงได้ไปพักจำพรรษาที่วัดถ้ำพระสบาย ตลอดระยะเวลาที่อยู่จำพรรษา ๓ เดือน หลวงปู่จะทำกิจวัตร-ข้อวัตร คือ การไหว้พระ สวดมนต์ นั่งสมาธิภาวนา อยู่ไม่ได้ขาด
ในแต่ละวันเวลาประมาณ ๒๐.๐๐ น. หลวงปู่จะนำพาพระเณรที่อยู่จำพรรษาในปีนั้นประมาณ ๒๐ รูป มารวมกันที่อุโบสถแล้วหลวงปู่จะนำไหว้พระสวดมนต์ ประมาณเกือบ ๒ ชั่วโมง จากนั้นจะพักผ่อนอิริยาบถเล็กน้อย แล้วหลวงปู่ก็จะเทศน์อบรมพระเณรไปจนถึงเวลาประมาณห้าทุ่ม จึงเลิกกัน
ที่วัดถ้ำพระสบายแห่งนี้ จะมีคณะศรัทธาญาติโยมมารักษาศีลภาวนาน้อย แต่แปลกอยู่อย่างหนึ่งคือจะมีแต่ผู้ชาย คนเฒ่าคนแก่ มารักษาศีลภาวนา ผู้หญิงมีน้อยมาก
ในปีที่หลวงปู่หลวงอยู่พักจำพรรษาที่วัดถ้ำพระสบายนี้ เป็นช่วงอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยมากเพราะเป็นช่วงหน้าฝนด้วย อากาศเดี๋ยวหนาวเดี๋ยวร้อน และบางครั้งฝนก็จะตก ทำให้ปีนั้นหลวงปู่หลวงเกิดอาพาธ เป็นไข้ตัวร้อน จึงได้ไปนอนพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลแม่ทะ เป็นเวลาหลายวัน โดยมีคุณหมอสมบูรณ์ ชุ่มวิจารณ์ เป็นผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด จนกระทั่งอาการดีขึ้นจึงกลับวัดได้ตามปกติ
หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร
อีกทั้งช่วงที่หลวงปู่อยู่จำพรรษานั้น มีปัญหาอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นคือปัญหาเรื่องน้ำ ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาสำคัญของวัดถ้ำพระสบายมาตั้งแต่สมัยหลวงปู่แว่นยังมีชีวิตอยู่แล้ว กล่าวคือ น้ำที่ใช้ในการล้างบาตร ซักผ้า ตลอดจนน้ำใช้ น้ำสรงของพระเณร จะขาดแคลนมาก บางครั้งไม่มีน้ำใช้เป็นเวลาหลายวัน เพราะว่าน้ำที่ใช้ในปัจจุบันเป็นน้ำที่สูบมาจากอ่างเก็บน้ำของสาธารณะ บางปีฝนไม่ดี น้ำมีน้อย ประกอบกับชาวบ้านได้เปิดอ่างเก็บน้ำเพื่อนำน้ำไปทำนา น้ำจึงไม่พอใช้หรือน้ำแห้งขอดลงมาก ซึ่งถ้าหากชาวบ้านลงไปหาปลา น้ำก็จะขุ่นใช้ไม่ได้ หรือถ้าฝนตกหนักหลายวัน น้ำไหลบ่าลงจากภูเขาก็ทำให้น้ำขุ่นจนเป็นสีข้น พระเณรก็จำเป็นต้องใช้น้ำที่ขุ่นอย่างนั้น
นอกจากนี้ยังมีปัญหาเกี่ยวกับเครื่องสูบน้ำมาก บางครั้งเครื่องเสีย กว่าจะซ่อมได้กินเวลาไปหลายวัน พระเณรก็ไม่มีน้ำใช้ ปัญหาเรื่องน้ำจึงเป็นปัญหาหลักของวัดถ้ำพระสบายมาจนถึงทุกวันนี้ หลวงปู่หลวงจึงพูดเตือนพระเณรและคณะศรัทธาญาติโยม ว่าไปที่ไหนให้พากันทานน้ำด้วย จะได้ไม่อดอยากแห้งแล้ง และเวลามีคณะศรัทธาญาติโยมเอาน้ำมาถวาย หลวงปู่จะบอกว่า “ใครทานน้ำได้เป็นเศรษฐี ใครทานของดีจะได้เป็นพระเจ้า”
หลวงปู่หลวงจึงมีความผูกพันกับวัดถ้ำพระสบายมากพอสมควร ประการหนึ่งคือเป็นวัดที่ท่านได้บุกเบิกเริ่มสร้างขึ้นพร้อมกับหลวงปู่แว่น ธนปาโล กล่าวคือ การสร้างถ้ำทุบหินจนเกิดอาการอาพาธหนักในวัยหนุ่ม และอีกประการหนึ่งคือได้เกี่ยวข้องกับครูบาอาจารย์พระเถระลูกศิษย์สายท่านพระอาจารย์ปู่มั่นหลายๆ รูป ที่วัดถ้ำพระสบายแห่งนี้ เช่น ท่านพ่อลี ธมฺมธโร, หลวงปู่ชอบ ฐานฺสโม และหลวงปู่หลุย จนฺทสาโร เป็นต้น
แม้ว่าในช่วงออกพรรษาแล้ว หลวงปู่หลวงก็กลับไปจำพรรษาอยู่ที่สำนักสงฆ์คีรีสุบรรพตตามเดิม แต่ความเมตตาอันสูงค่าที่หาประมาณไม่ได้ คือหลวงปู่ก็ยังสนับสนุนดูแลวัดถ้ำพระสบายอยู่ตลอดไป เช่น ให้ทุนในการก่อสร้างกำแพงคอนกรีตรอบวัด แต่สร้างได้เฉพาะด้านหน้าก็ต้องหยุดไปเพราะปัจจัยในการก่อสร้างไม่มีต่อ และได้ฝากเงินเข้ามูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร.) เพื่อเอาดอกผลมาใช้ในกิจการของวัดด้วย
วัดคำประมง-หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร-พระอาจารย์พัลลภ (ปพนพัชร์) จิรธมฺโม
๏ จำพรรษาวัดคำประมง
ในปี พ.ศ. ๒๕๔๔ หลวงปู่หลวงได้ไปพักจำพรรษาอยู่ที่ วัดคำประมง ต.สว่าง อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร เพราะว่าคณะศรัทธาพี่น้องชาว จ.สกลนคร ได้นิมนต์หลวงปู่หลวงไว้หลายปีแล้ว แต่ไม่มีโอกาสว่างซักที ประกอบกับ พระอาจารย์พัลลภ (ปพนพัชร์) จิรธมฺโม เจ้าอาวาสวัดคำประมง ได้สร้างกฏิหลังใหม่ถวายหลวงปู่ด้วย โดยมีญาติโยมในเมืองสกลนครเป็นเจ้าภาพในการก่อสร้าง วัดคำประมงแห่งนี้เป็นวัดที่ หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร เป็นผู้บุกเบิกสร้างไว้จนเป็นวัดใหญ่โต มีสิ่งก่อสร้างมากมายหลายอย่าง
ในปีที่หลวงปู่พักจำพรรษาอยู่ที่วัดคำประมงนี้ หลวงปู่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงดีมาก เป็นเพราะว่ากุฏิหลังใหม่ที่สร้างถวายหลวงปู่นั้นอยู่ติดกับอ่างน้ำขนาดใหญ่ ทำให้อากาศเย็นสบาย มีลมพัดอยู่ตลอดเวลา ปกติหลวงปู่จะชอบน้ำเป็นอย่างมาก หลวงปู่เคยพูดว่าในอดีตเคยเกิดเป็นปลา มีอยู่ปีหนึ่งได้ไปงานนิมนต์ที่ จ.ภูเก็ต แล้วได้นั่งเรือออกเที่ยวชมทะเล หลวงปู่บอกว่ารู้สึกจิตใจสดชื่นแจ่มใสเย็นสบาย เหมือนกับเป็นปลาว่ายน้ำอยู่อย่างนั้น ประกอบกับอาหารการฉันที่วัดคำประมง ส่วนมากจะเป็นของพื้นบ้านอีสานธรรมดาทั่วไป ทำให้หลวงปู่ฉันได้ถูกปาก
ในกลางพรรษาปีนั้น หลวงปู่หลวงพร้อมด้วยคณะสงฆ์หลายรูป ได้มีโอกาสไปกราบมนัสการเยี่ยมทำวัตร หลวงปู่จาม มหาปุญโญ ที่ วัดป่าวิเวกวัฒนาราม ต.คำชะอี อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร ซึ่งแต่ก่อนท่านทั้งสองก็เคยอยู่ปฏิบัติธรรมด้วยกันในเขต จ.เชียงใหม่ เชียงราย และลำปาง
พอไปถึงหลวงปู่จาม มหาปุญโญ ก็ยังจำได้ดี ทั้งๆ ที่หลวงปู่จามเองก็มีอายุถึง ๙๓ ปีแล้ว และมีโอกาสได้ฟังเทศน์ของหลวงปู่จามอีกด้วย หลวงปู่หลวงยังจำได้และนำมาสั่งสอนคณะศรัทธาญาติโยมอยู่เป็นประจำว่า “นรกไม่มีวันเต็มเด้อ สวรรค์ก็ไม่มีวันเต็มเด้อ ใครอยากไปอยู่ที่ไหนก็ทำเอง”
พอออกพรรษาแล้ว หลวงปู่หลวงก็ยังคงอยู่ที่วัดคำประมง ในเวลาช่วงเย็นๆ หลวงปู่ก็จะเอาอาหารไปเลี้ยงปลาที่มีมากมาย ปลาตัวใหญ่ๆ เป็นฝูงๆ ขึ้นมาแย่งกันกินอาหาร เป็นที่ชอบอกชอบใจของหลวงปู่ หลวงปู่ก็จะหัวเราะไปด้วยแผ่เมตตาไปด้วย เมื่อรับกฐินที่วัดคำประมงเสร็จเรียบร้อยแล้ว หลวงปู่หลวงยังได้ไปเป็นประธานรับกฐินที่วัดใกล้ๆ บ้านแถวนั้นอีก เช่น วัดท่าวังหิน วัดป่าบะหัวเมย เป็นต้น จากนั้นจึงได้เดินทางกลับไปยัง จ.ลำปาง เพื่อพักจำพรรษาอยู่ที่สำนักสงฆ์คีรีสุบรรพต อีก ๑ พรรษา คือในปี พ.ศ. ๒๕๔๕
หลวงปู่จาม มหาปุญโญ
“พระพุทธรูปปางนาคปรก” ณ วัดสามัคคีบุญญาราม (วัดคีรีสุบรรพต)
๏ สร้างพระพุทธรูปปางนาคปรก
ประมาณช่วงฤดูร้อนของปี พ.ศ. ๒๕๔๑ หลวงปู่หลวงได้มีโอกาสไปพักผ่อนภาวนาที่น้ำตกแจ้ซ้อน อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน อ.เมืองปาน จ.ลำปาง โดยไปพักอยู่ที่สวนของลูกศิษย์คนหนึ่ง อากาศที่แจ้ซ้อนเย็นสบายมาก วันหนึ่งหลวงปู่บอกว่า “ได้นิมิตว่าเทวดามาบอกให้สร้างพระพุทธรูปปางนาคปรกองค์ใหญ่ โดยเอาเลข ๙ ขึ้นหน้า ให้สร้างไว้บนภูเขาใน จ.ลำปาง เมื่อสร้างเสร็จแล้วเมืองลำปางจะอุดมสมบูรณ์”
ด้วยเหตุนี้หลวงปู่หลวง กตปุญโญ จึงมีดำริโครงการที่จะสร้าง “พระพุทธรูปปางนาคปรก” องค์ใหญ่ ขนาดหน้าตักกว้าง ๙.๙๙ เมตร สูง ๒๘ เมตร เพื่อปกป้องคุ้มครอง แล้วนำไปประดิษฐานไว้ ณ วัดสามัคคีบุญญาราม (วัดคีรีสุบรรพต) บ้านทุ่งสามัคคี ต.พระบาท อ.เมือง จ.ลำปาง
ปัจจุบัน สำนักสงฆ์คีรีสุบรรพต ได้รับการยกฐานะขึ้นให้เป็นวัดอย่างถูกต้องสมบูรณ์แล้ว ต่อมา วัดคีรีสุบรรพต ได้เปลี่ยนชื่อวัดใหม่โดยมีชื่อทางราชการว่า วัดสามัคคีบุญญาราม
เมื่อออกพรรษาในปี พ.ศ. ๒๕๔๑ แล้ว จึงได้ปรับปรุงเตรียมพื้นที่และได้ทำการประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ เพื่อทำการก่อสร้างพระพุทธรูปปางนาคปรกองค์ใหญ่ โดยหลวงปู่หลวงได้มอบหมายงานทุกอย่างให้กับ พระเทพวิสุทธิญาณ (ท่านพระอาจารย์ไพบูลย์ สุมงฺคโล) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระปัญญาพิศาลเถร แห่งวัดอนาลโยทิพยาราม ต.สันป่าม่วง อ.เมือง จ.พะเยา เป็นผู้ควบคุมดูแลทั้งในเรื่องการเขียนแบบแปลน การจัดหาช่างมาก่อสร้าง ซึ่งงานนี้เป็นงานที่สำคัญมาก โครงสร้างจะต้องแข็งแรงมั่นคงทำให้คำนวณแบบแปลนยาก กระทั่งเป็นเหตุทำให้งานก่อสร้างได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๕๔๕ นี้เอง ซึ่งการก่อสร้างได้ดำเนินการไปเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง โดยใช้งบประมาณกว่า ๒๐ ล้านบาทโดยประมาณ ในที่สุดการดำเนินการก่อสร้างก็สำเร็จสมบูรณ์เป็นที่เรียบร้อย และได้มีการจัดงานฉลองสมโภช “พระพุทธรูปปางนาคปรก” องค์นี้ขึ้นเมื่อวันเสาร์-วันอาทิตย์ที่ ๒๔-๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๐ เป็นเวลา ๒ วัน ณ วัดสามัคคีบุญญาราม (วัดคีรีสุบรรพต)
พระเทพวิสุทธิญาณ (ท่านพระอาจารย์ไพบูลย์ สุมงฺคโล)
เมื่อครั้งหลวงปู่อาพาธครั้งสุดท้ายที่โรงพยาบาล หลวงปู่ท่อน ญาณธโร สหธรรมิกของหลวงปู่ได้มาเยี่ยมและพูดคุยกับหลวงปู่อยู่เป็นประจำ หลวงปู่หลวงท่านได้พูดกล่าวฝากไว้ ด้วยความผูกพันและความเมตตาเมื่อหลวงปู่หลวงมรณภาพลง หลวงปู่ท่อนจึงได้รับภาระในการช่วยหาปัจจัยอีกแรงหนึ่ง
หลวงปู่หลวงบอกว่า “พระพุทธรูปปางนาคปรก” องค์นี้ จะเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดลำปาง จะเป็นพระใหญ่ประจำภาคเหนือและเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองตลอดไป โดยสร้างไว้ให้เป็นที่กราบไหว้สักการบูชาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เพราะว่าเมื่อได้ก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะมีความสวยงามสูงตั้งตระหง่านโดดเด่นอยู่บนภูเขาและมองเห็นได้ไกล ทั้งนี้จะทำให้เมืองลำปางอยู่เย็นเป็นสุขและมีความอุดมสมบูรณ์ขึ้น เพราะว่าเป็นพระพุทธรูปที่เทวดานิมิตบอกให้สร้างขึ้น
นอกจากนั้นหลวงปู่ยังอธิฐานจิตยกให้เป็นอนุสรณ์แห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ซึ่งหลวงปู่ยกย่องเชิดชูว่าเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง
แม้ว่าหลวงปู่หลวงจะอยู่ในวัยชราภาพมากแล้ว แต่ด้วยความเมตตากรุณาอันหาประมาณไม่ได้ หลวงปู่จึงยังคงรับผิดชอบและแบกรับภาระต่างๆ มากมายเกี่ยวกับกิจการสงฆ์ และค่าใช้จ่ายของวัดต่างๆ ภายในปกครองของท่าน มิใช่แต่เพียงพระ เถร เณร ชีเท่านั้น หลวงปู่ยังแผ่ความเมตตาครอบคลุมทั่วไปไม่มีจำกัด
ด้วยภาระต่างๆ ทำให้ท่านต้องตรากตรำงานหนัก รับกิจนิมนต์ไม่ได้ขาด ทั้งๆ ที่สุขภาพของหลวงปู่ไม่สู้จะดีมานานแล้ว แต่หลวงปู่อาศัยขันติบารมี อดทนและเสียสละ ไม่เคยปริปากบ่นหรือย่อท้อแต่อย่างใดเลย
หลวงปู่ท่อน ญาณธโร
หลวงปู่หลวง กตปุญฺโญ
หลวงปู่ทา จารุธมฺโม
หลวงปู่หลวงรับกิจนิมนต์ครั้งสุดท้ายเพื่อไปพักผ่อนอริยาบถ และกราบเยี่ยมสนทนาธรรมกับ หลวงปู่ทา จารุธมฺโม ณ วัดถ้ำซับมืด บ้านซับม่วง ต.จันทึก อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา การพบและสนทนาธรรมกันของพระอริยเจ้าทั้งสอง เกี่ยวกับภาระหน้าที่ขององค์หลวงปู่หลวง กตปุญฺโญ มีความดังต่อไปนี้
หลวงปู่ทา : กลับไวแท้
หลวงปู่หลวง : มีธุระครับผม เป็นหนี้เขาอยู่ ต้องไปใช้หนี้เขาหลายแห่งอยู่
หลวงปู่ทา : เมื่อใดจะแล้วหนี้
หลวงปู่หลวง : บ่ฮู้ล่ะ เมื่อใดสิแล้วก็บ่ฮู้นะ หลายหนี้อยู่ พระใหญ่ก็ ๒๐ ล้าน โบสถ์ก็ ๔ ล้าน ๕ ล้านแล้ว อ่างน้ำมันรั่ว บ่อยู่ ก็อยู่ในราวสามแสน (หัวเราะ)
หลวงปู่ทา : เอ้า...สงเคราะห์เขาไป
หลวงปู่หลวง : สงเคราะห์เขาไป
หลวงปู่ทา : เฮ็ดอย่างใด เกิดมาแล้วต้องสงเคราะห์เขา สงเคราะห์ให้มันแล้วซะ
หลวงปู่หลวง : ครับผม สัตว์ทั้งหลายเป็นไปตามกรรม พระพุทธเจ้าว่ามันไปตามกรรม เราบ่ได้นึก บ่ได้คิด มันก็ไปบ่อยากนึก บ่อยากทำ มันก็ทำได้ (หัวเราะ) ก็เหมือนที่ไปสร้างพระใหญ่นะ ก็บ่ได้นึก คิดว่าจะไปสร้างที่นั้นน่ะแต่ก็เป็นไปตามกรรม
หลวงปู่ทา : เอา นึกแล้ว คิดแล้ว มันต้องตามไป ต้องสร้าง ต้องทำ
หลวงปู่หลวง : ที่หนึ่งที่เชียงรายกระผม เป็นถ้ำใหญ่ นั่นก็บ่ได้นึกคิดว่าจะไปสร้างที่นั่นขึ้น ไป๊ มันดันไปสร้างขึ้นเป็นวัดเป็นวาขึ้น
หลวงปู่ทา : จะเอาที่ไหนละ สร้างพระใหญ่
หลวงปู่หลวง : ลำปางครับ อ.เมือง, อ.เกาะคานั่น เจดีย์ โบสถ์สร้างแล้ว
หลวงปู่ทา : ยังอยู่แต่ลำปาง
หลวงปู่หลวง : ครับ จังหวัดลำปาง ที่เขาถวายให้ใหม่ครับ ๒๕๙ ไร่ ที่วัดเขานั้น คีรีสุบรรพตครับผม จะสร้างพระใหญ่งบ ๒๐ ล้าน
หลวงปู่ทา : เอาใหญ่เท่าใดครับ
หลวงปู่หลวง : บ่ได้คิด แต่มันก็ไป ไปตามกรรม บ่ได้คิด
หลวงปู่ทา : สร้างไปเถ๊อะ ได้บุญมากๆ มาให้พวกรุ่นหลังเขามนัสการ ได้บุญมาก สร้างพระ
หลวงปู่หลวง : หน้าตักกว้าง ๙ เมตร ๙๙ ครับ สูง ๒๘ เมตร
หลวงปู่ทา : โอ๊ะ ก็ใหญ่แล้ว จะนานเติบหนาจึงจะแล้วเสร็จ
หลวงปู่หลวง : ก็กะ ๓ ปี
หลวงปู่ทา : ถ้าเงินดีก็แล้วไว เงินฝืดก็แล้วยาก
หลวงปู่หลวง : ครับเงินพอก็แล้วไว
หลวงปู่ทา : ไปพูดบ่อนใดก็ได้หรอก หลวงปู่ใหญ่เขาเลื่อมใส
หลวงปู่หลวง : สร้างแล้วก็สบายแล้ว คือโบสถ์เก่าที่ผมอยู่นะเสร็จแล้ว โบสถ์หลังนั้นสร้างมาตั้ง ๔๐ กว่าปี แล้ว ๔๗, ๔๘, ๔๙ เข้า ๕๐ ปี แล้วเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทั้งโบสถ์ เจดีย์ มัน ๔ ล้าน ๕ ครับ ที่นี้วัดดอยฯ ที่อยู่นะ มันสร้างยาก พระนาคปรกสร้างองค์เดียวเป็นสององค์ สร้างยากมันก็เลยแพง พระนาคปรก ปกคุ้มครอง ต้องสร้างแข็งแรง จึงจะอยู่ได้ เหล็กอย่างดี เฉพาะเหล็กอย่างเดียวก็จ่ายไป ๒ ล้านกว่าแล้ว
หลวงปู่ทา : โอ้ ว่า ล้าน ล้านมานี่ มันก็ท้อแล้ว
หลวงปู่หลวง : ส่วนวัดสำราญน่ะ ทั้งโบสถ์ ทั้งเจดีย์ เสร็จไปแล้ว
หลวงปู่ทา : พยายามเถอะ เอาให้มันแล้ว
หลวงปู่หลวง : ครับ มันแล้ว ก็ดีแล้ว
หลวงปู่หลวง กตปุญโญ ครั้งเดินทางไปแสวงธรรม ณ ประเทศอินเดีย
๏ แสวงธรรมประเทศอินเดีย
หลวงปู่เคยพูดถึงประเทศอินเดีย อันเป็นดินแดนพุทธภูมิที่เกิดขึ้นของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์เสมอ
“ประเทศอินเดียมันน่าไป ไปแล้วก็อยากไปอีก เพราะได้เห็นทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ที่นั่น ทำให้เกิดความสลดสังเวช ปลงสังขารได้ โดยเฉพาะได้ไปกราบไหว้สังเวชนียสถานด้วย”
หลวงปู่ตั้งใจไว้ว่าถ้ามีโอกาสก็อยากไปอีก ถึงแม้ว่าจะไปมา ๓ ครั้งแล้วก็ตาม ดังนั้น ช่วงปลายเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๔๖ หลวงปู่จึงมีโอกาสได้เดินทางไปแสวงธรรมที่ประเทศอินเดียอีกครั้ง หลวงปู่บอกว่า “การไปประเทศอินเดียครั้งนี้ไปแบบเศรษฐี พักที่โรงแรมดี อาหารการกินไม่ขาดตกบกพร่อง มีสมบูรณ์ทุกอย่าง”
ตลอดระยะเวลา ๑๒ วันที่แสวงธรรมอยู่ที่ประเทศอินเดียนั้น ต้องยกย่องและยอมรับในความอดทนของหลวงปู่มากทีเดียว เพราะบางวันต้องใช้เวลาเดินทางบนรถหลายชั่วโมง เพราะระยะทางนั้นไกลมากและถนนหนทางก็ไม่ค่อยดี บางวันต้องฉันข้าวบนรถเลยก็มี แต่หลวงปู่ไม่เคยที่จะบ่นว่าเหนื่อยหรือเมื่อยล้าให้ได้ยินแม้แต่คำเดียว จะเห็นแต่รอยยิ้ม เช่นเวลาเดินทางในช่วงเช้า ทั้งสองข้างทางจะเห็นพี่น้องชาวอินเดียออกไปทำธุรกิจส่วนตัวที่อดกลั้นไว้ ตั้งแต่เมื่อคืน ด้วยความสบายอกสบายใจโดยไม่มีความเอียงอายเลยแม้แต่นิดเดียว คงจะสบายอารมณ์สมกับคำว่า “ปลดทุกข์” นั่นแหละ ซึ่งเป็นที่ชอบอกชอบใจของผู้ที่ไปแสวงบุญในครั้งนั้นเป็นอย่างดี เมื่อเดินทางไปถึงแต่ละสถานที่ที่มีความสำคัญขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หลวงปู่ก็จะนำไหว้พระสวดมนต์ จากนั้นก็จะนั่งภาวนาโดยประมาณ หรือบางครั้งก็พาญาติโยมเดินเวียนเทียนประทักษิณครบ ๓ รอบ
ยังความปีติยินดีต่อเนื้อนาบุญที่ได้เกิดขึ้นแก่คณะศรัทธาญาติโยมที่ร่วมเดินทางแสวงบุญด้วยกัน ให้เกิดความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ
หลวงปู่หลวง กตปุญโญ ขณะอาพาธ
๏ การอาพาธและการมรณภาพ
พอเข้าฤดูหนาวทีไรหลวงปู่มักมีอาการไออยู่เป็นประจำ ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๔๕ ก็เช่นเดียวกัน พอย่างเข้าฤดูหนาวหลวงปู่ก็จะไอและมีอาการมากขึ้นเมื่ออากาศยิ่งหนาว จะหายาแก้ไอชนิดดีเพียงใดมาถวาย อาการก็ไม่หายขาด ในปีนั้นหลวงปู่มีอาการไอมากกว่าทุกปี บางคืนไอจนจำวัดแทบไม่ได้ ไปพบแพทย์เอายามาฉันก็ระงับได้ชั่วคราว แล้วก็กลับมาไออีกเหมือนเดิม จนอากาศหนาวได้ลดไปเริ่มเข้าฤดูร้อน อาการไอก็จะลดลงและหยุดไปเอง
เทศกาลปีใหม่ พ.ศ. ๒๕๔๖ หลวงปู่ได้มีโอกาสไปงานที่โรงเรียนบ้านบัว จ.สกลนคร ซึ่งเป็นช่วงที่มีอากาศหนาวมาก จนทำให้หลวงปู่ไม่สบาย เป็นหวัด มีไข้ด้วย ไปตรวจที่โรงพยาบาลอากาศอำนวย แพทย์บอกว่าปอดอักเสบแล้วให้ยามาฉัน อาการดีขึ้นเป็นลำดับ ตั้งแต่นั้นมา จะสังเกตเห็นว่าหลวงปู่ฉันอาหารได้น้อยลงกว่าเดิมมาก อาหารที่มีรสหวานจะฉันไม่ได้เลย พอฉันทีไรจะมีเสียงเรอออกมา ทำให้ฉันต่อไปอีกไม่ได้ ทำให้หลวงปู่ผอมลงทีละน้อย อีกอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดก็คือ ที่เท้ามีอาการบวม เมื่อใช้ยาทาและประคบ อาการบวมก็หายไประยะหนึ่ง เมื่อไปเช็คที่โรงพยาบาล แพทย์ให้ยามาฉันก็พอจะทุเลาลงไปบ้าง
ประมาณปลายเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๔๖ หลวงปู่ได้เดินทางไปประเทศอินเดีย ๑๒ วัน เป็นโชคดีที่หลวงปู่ไม่มีอาการป่วยเลย พอประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ หลวงปู่มีอาการเป็นหวัดอีกครั้งหนึ่งจนเสียงแหบไม่มีเสียงพูดเลย ฉันยาน้ำบ้าง ยาเม็ดบ้างจึงพอมีเสียงพูดออกมาได้
หลายเดือนต่อมา อาการบวมที่เท้าของหลวงปู่ก็บวมขึ้นมาอีก ทำอย่างไรก็ไม่ยุบ ใช้ยาทั้งประคบ ทั้งทาและทั้งฉัน อาการบวมก็ยังมีอยู่เหมือนเดิม แพทย์บอกว่าโปรตีนของหลวงปู่ต่ำ ไตเริ่มมีปัญหา เอายามาฉันอาการก็ไม่ดีขึ้น การฉันอาหารก็น้อยลงไปทุกที ได้แต่เคี้ยวอาหารแล้วก็คายทิ้ง กลืนลงไม่ได้ บางครั้งฉันไปได้นิดหน่อยก็มีลมเรอออกมา แล้วก็อาเจียนทำให้ฉันต่อไปไม่ได้อีก จึงทำให้หลวงปู่อ่อนเพลียมาก
ตอนเช้าของวันที่ ๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๖ หลวงปู่ฉันไม่ได้เลย มีอาการเหนื่อย ไม่มีแรง คณะศิษยานุศิษย์จึงนิมนต์หลวงปู่เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธ กรุงเทพฯ เมื่อเช็คร่างกายแล้ว แพทย์บอกว่าไตของหลวงปู่มีปัญหา มีเลือดค้าง มีแก๊สในท้องมาก แพทย์จึงถวายการรักษาโดยให้น้ำเกลือ ยาฉัน และเพิ่มเลือดไปเรื่อยๆ จนเห็นชัดว่าอาการของหลวงปู่ดีขึ้นเป็นลำดับ คือสามารถเดินได้เองเป็นปกติ ฉันอาหารได้ทุกอย่าง พูดคุยสนทนาธรรมหรือเทศน์สั่งสอนคณะศรัทธาญาติโยมที่ไปกราบเยี่ยมได้ จนระยเวลาผ่านไปประมาณ ๑๐ วัน อาการของหลวงปู่เริ่มผิดปกติอีก คือถ่ายออกมามีสีดำและปัสสาวะได้น้อยลง อาการบวมเริ่มมีมากขึ้นมาที่ตัว มือ และแขน จนเห็นได้ชัดเจน โดยเฉพาะที่ท้องจะบวมโตมาก
สรีระสังขารหลวงปู่หลวง กตปุญโญ
จากนั้นไม่กี่วัน หลวงปู่อาเจียนและถ่ายออกมาเป็นเลือดสีแดงสด เมื่อแพทย์ตรวจดูก็พบว่าในกระเพาะอาหารของหลวงปู่มีแผลหลายจุดซึ่งเกิดจากเชื้อราชนิดหนึ่ง โดยมีแผลหนึ่งที่ใหญ่มากทำให้เลือดไหลซึมออกมาตลอดเวลา จากการที่หลวงปู่เสียเลือดมาก ทำให้อาการมีแต่ทรุดมาเป็นระยะๆ แพทย์ได้พยายามทุกวิถีทางที่จะห้ามเลือดและรักษาแผลในกระเพาะอาหาร แต่ก็รักษาได้ประมาณ ๒-๓ วัน อาการที่ถ่ายออกมาเป็นเลือดก็เหมือนเดิม ทำให้อาการหลวงปู่มีแต่ทรุดลงเรื่อยๆ จนต้องเข้ารักษาตัวอยู่ที่ห้องไอซียู (I.C.U) ประมาณปลายเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๖ แต่อาการก็ไม่ดีขึ้น แพทย์จึงได้ขออนุญาตหลวงปู่ทำการผ่าตัดเพื่อเอาแผลในกระเพาะอาหารออก และจะได้ทำการห้ามเลือดให้หยุดไหล ซึ่งได้ผลระยะประมาณหลายวัน อาการของหลวงปู่ทำท่าว่าจะดีขึ้น แต่แล้วเลือดที่กระเพาะอาหารก็ยังไหลซึมออกมาอีกเหมือนเดิม
แพทย์ได้พยายามทุกวิถีทางจนสุดความสามารถที่จะถวายการรักษาหลวงปู่หลวง แต่อาการของหลวงปู่ก็มีแต่ทรุดลงไปเรื่อยๆ ด้วยวัยชราและโรคภัยหลายอย่างเข้ามาแทรกซ้อน ในที่สุดหลวงปู่หลวงจึงได้ละสังขารด้วยอาการสงบ เมื่อวันจันทร์ที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ เวลา ๐๑.๑๐ น. ซึ่งตรงกับวันปวารณาเข้าพรรษา แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ปีมะแม ณ ห้องไอซียู โรงพยาบาลวิชัยยุทธ กรุงเทพฯ ยังความโศรกเศร้าอาลัยอาวรณ์ต่อองค์หลวงปู่ผู้เป็นที่รักและเคารพบูชาของคณะสงฆ์ คณะศิษยานุศิษย์ และพุทธศาสนิกชนทั่วไป ที่ต้องสูญเสียพระมหาเถระผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ในศิษย์สายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทฺตตเถระ ไปอีกหนึ่งองค์
สิริรวมอายุของหลวงปู่ได้ ๘๒ ปี ๔ เดือน ๑๕ วัน ๕๓ พรรษา (เฉพาะญัตติธรรมยุติกนิกาย)
กำหนดการพระราชทานเพลิงศพ พระครูการุณยธรรมนิวาส (หลวงปู่หลวง กตปุญโญ) เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ เวลา ๑๖.๐๐ น. ณ วัดสามัคคีบุญญาราม (วัดคีรีสุบรรพต)
ในงานพระราชทานเพลิงศพพระครูการุณยธรรมนิวาส (หลวงปู่หลวง กตปุญโญ)
เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ ณ วัดสามัคคีบุญญาราม (วัดคีรีสุบรรพต)
๏ ลำดับการจำพรรษา
เริ่มแรกครั้งบวชเป็นพระในมหานิกาย ได้รับนามฉายาว่า “ขนฺติพโล”
- พรรษาที่ ๑-๓ พ.ศ. ๒๔๘๕-๒๔๘๗
วัดศรีรัตนาราม บ้านบัว ต.สว่าง อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ๓ ปี
- พรรษาที่ ๔-๘ พ.ศ. ๒๔๘๘-๒๔๙๒
วัดหนองหญ้าปล้อง (วัดสันติสังฆาราม) บ้านบัว ต.สว่าง อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ๕ ปี
แปรญัตติใหม่บวชเป็นพระในธรรมยุติกนิกาย ได้รับนามฉายาว่า “กตปุญฺโญ”
- พรรษาที่ ๑-๓ พ.ศ. ๒๔๙๓-๒๔๙๕
วัดถ้ำพระสบาย บ้านหนองถ้อย ต.นาครัว อ.แม่ทะ จ.ลำปาง ๓ ปี
- พรรษาที่ ๔ พ.ศ. ๒๔๙๖
วัดป่าเจริญธรรม ต.ยุหว่า อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ ๑ ปี
- พรรษาที่ ๕-๗ พ.ศ. ๒๔๙๗-๒๔๙๙
วัดถ้ำพระสบาย บ้านหนองถ้อย ต.นาครัว อ.แม่ทะ จ.ลำปาง ๓ ปี
- พรรษาที่ ๘ พ.ศ. ๒๕๐๐
วัดถ้ำผาจรุย ต.ป่าแงะ อ.ป่าแดด จ.เชียงราย ๑ ปี
- พรรษาที่ ๙ พ.ศ. ๒๕๐๑
วัดป่าสามัคคี อ.แม่ทะ จ.ลำปาง ๑ ปี
- พรรษาที่ ๑๐-๔๔ พ.ศ. ๒๕๐๒-๒๕๓๖
วัดป่าสำราญนิวาส ต.ศาลา อ.เกาะคา จ.ลำปาง ๓๔ ปี
• ปี พ.ศ. ๒๕๐๖ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าสำราญนิวาส
• ในปีเดียวกัน พ.ศ. ๒๕๐๖ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลศาลา
• ปี พ.ศ. ๒๕๐๙ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระครูการุณยธรรมนิวาส
• ปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์
- พรรษาที่ ๔๕-๔๗ พ.ศ. ๒๕๓๗-๒๕๓๙
สำนักสงฆ์คีรีสุบรรพต บ้านทุ่งสามัคคี ต.พระบาท อ.เมือง จ.ลำปาง ๓ ปี
- พรรษาที่ ๔๘-๔๙ พ.ศ. ๒๕๔๐-๒๕๔๑
วัดม่อนหินขาว บ้านทุ่ง ต.สบปราบ อ.สบปราบ จ.ลำปาง ๒ ปี
- พรรษาที่ ๕๐ พ.ศ. ๒๕๔๒
สำนักสงฆ์คีรีสุบรรพต บ้านทุ่งสามัคคี ต.พระบาท อ.เมือง จ.ลำปาง ๑ ปี
- พรรษาที่ ๕๑ พ.ศ. ๒๕๔๓
วัดถ้ำพระสบาย บ้านหนองถ้อย ต.นาครัว อ.แม่ทะ จ.ลำปาง ๑ ปี
- พรรษาที่ ๕๒ พ.ศ. ๒๕๔๔
วัดคำประมง ต.สว่าง อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ๑ ปี
- พรรษาที่ ๕๓ พ.ศ. ๒๕๔๕
สำนักสงฆ์คีรีสุบรรพต บ้านทุ่งสามัคคี ต.พระบาท อ.เมือง จ.ลำปาง ๑ ปี
วันปราวณาเข้าพรรษา วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ปีมะแม ตรงกับวันจันทร์ที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ เวลา ๐๑.๑๐ น. หลวงปู่หลวง กตปุญฺโญ ได้มรณภาพลงด้วยอาการอันสงบ
รวมสิริพรรษาได้ ๘ พรรษาในมหานิกาย และ ๕๓ พรรษาในธรรมยุติกนิกาย
ในงานพระราชทานเพลิงศพพระครูการุณยธรรมนิวาส (หลวงปู่หลวง กตปุญโญ)
เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ ณ วัดสามัคคีบุญญาราม (วัดคีรีสุบรรพต)
ลายลิขิตของ...หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ วัดอรัญญบรรพต จ.หนองคาย
ที่ได้เขียนเพื่อเป็นการไว้อาลัยให้กับ “หลวงปู่หลวง กตปุญโญ” เป็นครั้งสุดท้าย
ลายลิขิตของ...พระอุดมญาณโมลี (จันทร์ศรี จนฺททีโป) วัดโพธิสมภรณ์ จ.อุดรธานี
ที่ได้เขียนเพื่อเป็นการไว้อาลัยให้กับ “หลวงปู่หลวง กตปุญโญ” เป็นครั้งสุดท้าย
ลายลิขิตของ... หลวงปู่ทา จารุธมฺโม วัดถ้ำซับมืด จ.นครราชสีมา
ที่ได้เขียนเพื่อเป็นการไว้อาลัยให้กับ “หลวงปู่หลวง กตปุญโญ” เป็นครั้งสุดท้าย
ลายลิขิตของ...หลวงปู่ท่อน ญาณธโร วัดป่าศรีอภัยวัน จ.เลย
ที่ได้เขียนเพื่อเป็นการไว้อาลัยให้กับ “หลวงปู่หลวง กตปุญโญ” เป็นครั้งสุดท้าย
พระอัฐิธาตุหลวงปู่หลวง กตปุญโญ แปรสภาพจากเถ้าอังคาร ส่วนไหปลาร้า |